สรท.หั่นเป้าส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 10%

579
0
Share:

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพ.ค. 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 22.50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนพ.ค. 2563 มีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 34.41 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
.
ทั้งนี้ส่งผลให้ เดือนพ.ค.ไทยเกินดุลการค้า 2,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 81,105 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนพ.ค. การส่งออก ลดลง 27.19% )
.
สำหรับภาพรวมการส่งออกช่วง 5 เดือนแรก มีมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ มูลค่า 3.04 ล้านล้านบาท ลดลง 5.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง11.64 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 2.79 ล้านล้านบาท ลดลง 13.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 5 เดือน เกินดุลการค้า 9,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 248,531 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – พ.ค. ส่งออกลดลง 6.56% )
.

ทั้งนี้ทางสรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ 10% บนสมมติฐานค่าเงิน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญเพียงปัจจัยเดียว คือ การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋อง แปรรูป เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคมีอุปสงค์ในสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพช่วงการกักตัวและการฟื้นฟูเพิ่มขึ้น
.
จึงได้ทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเสนออัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากปีก่อนก็ตาม แต่ที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเมื่อปี 2558 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2559 อยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2560 อยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐและปี 2561 อยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ