สหรัฐ-อินเดีย-ซาอุ จูบปากทุ่มลงทุนมหาสารท่าเรือยันระบบรางเชื่อมเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง

340
0
Share:
สหรัฐ - อินเดีย - ซาอุ จูบปากทุ่ม ลงทุน มหาสารท่าเรือยันระบบรางเชื่อมเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง

การประชุมกลุ่มจี 20 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จะสิ้นสุดลงในวันนี้ โดยมีการประชุมนอกรอบครั้งสำคัญเกิดขึ้นกับมหาอำนาจ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่จาก 3 ทวีปของโลก ได้แก่ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา นายโจ ไบเดน นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอินเดีย นายนเรนทรา โมดี และโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน เจ้าฟ้าชายแห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ร่วมเปิดเผยเกี่ยวกับข้อตกลงการลงทุนโครงการเมกาโปรเจ็คด้านโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมระบบโลจิสติกส์และการเดินทางระหว่างเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ซึ่งคาดการณ์ว่ามีมูลค่าการลงทุนสูงนับกว่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโจ ไบเดน กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการลงทุนขนาดใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งจะเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกของทั้ง 2 ทวีปของโลก ซึ่งนำไปสู่ความมีเสถียรภาพที่ยั่งยืน นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และบูรณาการประเทศในตะวันออกกลางด้วย นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเปิดโอกาสการลงทุนที่ไม่มีสิ้นสุดสำหรับพลังงานสะอาด พลังงานไฟฟ้าสะอาด และวางโครงข่าวเชื่อมต่อสังคมที่หลากหลายในภูมิภาคนี้

นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอินเดีย นายนเรนทรา โมดี กล่าวว่า วันนี้ ในฐานะที่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกได้บรรลุความคิดริเริ่มการเชื่อมต่อที่มีขนาดใหญ่ ประเทศขนาดใหญ่กำลังหว่านเมล็ดพืชให้สำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้ที่จะสร้างฝันให้ยิ่งใหญ่ต่อไป

นายโจน ฟินเนอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ข้อตกลงนี้จะให้ประโยชน์ให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางในภูมิภาคดังกล่าว ที่สำคัญ สนับสนุนบทบาทสำคัญสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางในการค้าโลก โครงสร้างพื้นฐานในโครงการนี้จะเชื่อมทุกประเทศในตะวันออกกลางผ่านทางระบบรางและเชื่อมต่อเข้ากับประเทศอินเดียทางท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ช่วยให้สินค้าด้านพลังงานและสินค้าทั่วไปเชื่อมโยงผ่านกลุ่มประเทศในอ่าวตะวันออกกลางไปยังทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า จะสามารถตัดลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลาการขนส่ง และค่าน้ำมันในการขนส่งสินค้า

นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศจำนวนมาก วิเคราะห์ว่า ความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการยกระดับและแผ่อิทธิพลการเมืองระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจการค้าได้ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะการคานอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ที่วางเครือข่ายการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศบนโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road เชื่อมต่อเอเชียมายังแอฟริกา

ในขณะที่รัฐบาลอินเดียซึ่งมีปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เกี่ยวกับพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ จนส่งผลให้ประธานาธิบดีจีนแผ่นดินใหญ่ นายสี จิ้นผิง ไม่เดินทางเจ้าร่วมประชุมกลุ่มจี 20 ในปีนี้ ซึ่งอินเดียเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมขึ้นนั้น ได้สร้างอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศให้กับอินเดียเพิ่มมากขึ้น และโดดเด่นชัดเจน ในการคานอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่