‘สาธิต ปิตุเตชะ’ เชื่อไทยเกิดโควิดระลอก 2 แน่ แต่เชื่อมั่นวางระบบป้องกันไว้อย่างดี

664
0
Share:

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 ว่า การระบาดโควิดระลอก 2 ย่อมต้องเกิดขึ้น ทั้งกรณีเดินทางเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้เต็มระบบ แต่การเข้าออกทางสนามบินมีระบบที่ค่อนข้างมั่นใจ อย่างไรก็ตาม อีก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง โลกเราจะเดินทางไปสู่ความเป็นปกติสุข เนื่องจากจะมีวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นโคแวกซ์(COVAX) หรือแอสตราเซเนกา
.
ปัจจุบันญี่ปุ่นอนุมัติงบ 2 แสนล้านบาท เพื่อฉีดวัคซีนให้กับทุกคน ส่วนไทยรัฐบาลจะเตรียมเงิน 2 หมื่นล้านบาท หากเราได้รับวัคซีนแล้ว โดยจะได้ประมาณ 13 ล้านโดสหากผลิตสำเร็จ โดยจะนำมาแบ่งกลุ่มว่า จะแบ่งให้กลุ่มไหนอย่างไร ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดสถานการณ์โควิด และไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริหาร หรือคณะรัฐมนตรีก่อนเลย ซึ่งเคยมีคนบอกควรให้ผู้บริหารในการดำเนินการแก้โควิด แต่ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร
.
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่าง และเตรียมรองรับระลอก 2 ที่จะเกิดขึ้นโดยปัจจุบันในกทม. ทางการแพทย์รับได้ประมาณ 200 เตียงต่อวัน ซึ่งก็ถือว่ามั่นใจได้ในทางการแพทย์ ขณะที่กรมควบคุมโรคก็มีการอบรมผู้ที่จะมาสอบสวนโรคเพิ่มเติม แต่สิ่งสำคัญอย่าเสพติดกับตัวเลขผู้ป่วยเป็นศูนย์ราย แต่เราต้องเน้นการสอบสวนโรคให้เร็ว ควบคุมโรคได้ และต้องไม่ปกปิดข้อมูล
.
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปราย Updating COVID-19 ว่า ปัจจุบันเชื้อไวรัสโคโรนาตามฤดูกาลมี 4 ตัว และโควิด 19 ตัวนี้ในอนาคตจะเป็นตัวที่ 5 ซึ่งจะกลายเป็นเชื้อตามฤดูกาล
.
โดยปัจจุบันมีข้อมูลว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี อัตราตายน้อยมาก ขณะที่ผู้สูงอายุจะมีอาการและความรุนแรงมากกว่า สำหรับการติดเชื้อส่วนใหญ่ 80% แทบไม่มีอาการ มีอาการ 20% และจะรุนแรงถึงต้องเข้าไอซียูประมาณ 3% จริงๆ โรคนี้เมื่อเทียบกับอีโบลายังมีความรุนแรงไม่เท่า จึงพบเกิดการระบาดทั่วโลกได้ง่าย เพราะอีโบลาเป็นแล้วน็อกเลย
.
สำหรับอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ เมื่อเทียบกับโรคซาร์สกับเมอร์ส พบว่า โควิดน้อยกว่ามาก โดยโรคนี้อัตราเสียชีวิตจะสูงขึ้นตามอายุ โดยอายุ 50 ปีขึ้นไปจะพบอัตราเสียชีวิตขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ส่วนการประเมินสถานการณ์การระบาดของทั่วโลก คาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้อาจถึง 80-100 ล้านคน
.
อย่างไรก็ตาม ไทยถือว่ารับมือได้ดี อย่างสูงสุดผู้ป่วย 188 คน ยกตัวอย่าง หากจังหวัดมี 1 ล้านคน มีผู้ป่วยวันละ 5 คน ประเทศไทยรับได้ เพราะเรารู้ว่า ผู้ป่วยจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีส่วนน้อยที่มีอาการมากจนต้องเข้าไอซียู และที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันคนกลับสแกนไทยชนะน้อยลง ซึ่งจริงๆควรทำอย่างสม่ำเสมอ