‘สายการบินเอกชน’ เสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงจากผู้โดยสารรับน้ำมันผันผวน

341
0
Share:

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อพิจารณาให้สายการบินสามารถเรียกเก็บรายการค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) ของเส้นทางบินในประเทศได้ เพื่อช่วยสายการบินลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีราคาพุ่งสูงและผันผวน โดยแยกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกจากราคาตั๋วอย่างชัดเจน ซึ่งต้องรอหารือถึงแนวทางเรื่องนี้กับ กพท.เพิ่มเติม

ส่วนการรับมือราคาน้ำมันด้วยเครื่องมืออื่นๆ เช่น การทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันล่วงหน้า (Fuel Hedging) มองว่ายังไม่จำเป็นในช่วงนี้ เพราะปกติเครื่องมือนี้จะใช้ได้ในกรณีที่เห็นแนวโน้มระยะยาวค่อนข้างชัดว่าราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ถ้าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนคลี่คลายภายในเร็วๆ นี้ ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง ก็จะกลายเป็นภาระกับเราหากทำประกันความเสี่ยงซื้อน้ำมันในราคาสูงล่วงหน้า

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือต้องดูว่าสถานการณ์ที่เหมาะสมเป็นอย่างไร และมองให้ไกลว่าจุดที่ราคาน้ำมันเหมาะสมที่จะเข้าไปซื้อล่วงหน้านั้น มันต้องเป็นขาที่ยาว ไม่ใช่ขาสั้นๆ เพราะในช่วง 1-2 เดือนนี้ยังต้องเจอกับ “ความผันผวน” ของราคาน้ำมันค่อนข้างมาก ควรรอให้สถานการณ์นิ่ง ดูจังหวะที่ราคาน้ำมันย่อตัวลงมาแล้วคิดว่าเป็นราคาที่ดี เราถึงจะเข้าไปดำเนินการ

หากถามว่าตอนนี้เป็นห่วงเรื่องราคาน้ำมัน หรือ ดีมานด์นักท่องเที่ยว มากกว่ากัน บางกอกแอร์เวย์สเป็นห่วงเรื่องดีมานด์มากกว่า เพราะมองว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนไม่น่ายืดเยื้อ กระทบต่อราคาน้ำมันในระยะสั้น แต่ดีมานด์นักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้นั้น ขึ้นกับนโยบายการเปิดประเทศทั้งฝั่งไทยและประเทศต้นทางต่างๆ โดยอยากเห็นรัฐบาลไทยพิจารณาผ่อนคลายมาตรการด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go มากที่สุด ถ้าทำได้ จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยได้จำนวนมาก

ทั้งนี้ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ราคาน้ำมันเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้นทุนน้ำมันในช่วงนี้สูงขึ้น 40-50% จากปีที่แล้วราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มพุ่งสูงกว่าระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล