สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นนำเสนอไทยเป็น 1 ใน 3 ชาติที่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่โรคโควิด-19

346
0
Share:

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นนำเสนอไทยเป็น 1 ใน 3 ชาติที่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่โรคโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนขาดความพร้อม ฉีดครบโดสต่ำเป้า พึ่งวัคซีนประสิทธิภาพต่ำ วัคซีนไม่พอ
.
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น CNN เสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และเวียดนามที่ประกาศนโยบายเปิดประเทศ และให้ประชาชนอยู่รวมกับภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางความไม่พร้อมในหลากหลายปัจจัยที่จะควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ก่อนและหลังเปิดประเทศ ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่า อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสที่ต่ำในอาเซียน ประกอบกับมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพต่ำรวมถึงวัคซีนซิโนแวค อาจนำไปสู่ภัยพิบัติได้
.
ยานจง ฮวง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสาธารณสุขโลกแห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ไม่สูงมากพอ พร้อมๆกับการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ก่อนที่จะมีการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ระบบสาธารณสุขในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรืออาเซียนอาจจะล้นทะลักอย่างรวดเร็ว หรือไม่สามารถรองรับภาวะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างล้นหลาม ทุกคนจะได้เห็นการพุ่งสูงขึ้นของผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 ที่มีอาการป่วยรุนแรง และจะทำให้จำนวนผู้ป่วยมีมากจนล้นห้องไอซียู เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ ทั้งหมดจะเกิดเป็นความท้าทายในการเผชิญความขาดแคลน ภาวะวัคซีนที่ขาดแคลนในหลายประเทศของอาเซียน ทำให้การระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ให้คลอบคลุมวงกว้างอาจไม่ประสบความสำเร็จในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
.
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสาธารณสุขโลกแห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยานจง ฮวง ยังกล่าวด้วยว่า ความพยายามที่จะเปิดประเทศท่ามกลางประชาชนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศที่ได้รับวัคซีนครบโดส และในขณะที่ใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อย อาจทำให้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อท่วมท้นโรงพยาบาล และอาจนำไปสู่การกลับมาใช้มาตรการและข้อจำกัดควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ซ้ำอีก
.
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นนำเสนอว่า ประเทศไทยวางแผนจะเปิดเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วยฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวที่คิดเป็นกว่า 11% ของมูลค่าเศรษฐกิจประเทศไทย ขณะที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสในไทยอยู่ที่ 21% เท่านั้นของเป้าหมาย
.
ในขณะที่เวียดนามเตรียมแผนเปิดเกาะท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเกาะฝูก๊อกภายในเดือนตุลาคม แต่จนถึงบัดนี้ รัฐบาลเวียดนามฉีดวัคซีนครบโดสครอบคลุมได้น้อยกว่า 7% ของทั้งหมด สอดรับกับอินโดนัทเซียนที่ฉีดวัคซีนครบโดยประมาณ 16% ของเป้าหมาย แต่เตรียมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปในพื้นที่ท่องเที่ยวบางส่วน เช่น เกาะบาหลีในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนมาเลเซียดูจะเป็นประเทศเดียวในทั้งหมดที่กล่าวมาที่ฉีดวัคซีนครบโดสได้ถึงกว่า 56% ของเป้าหมาย ได้เปิดหมู่เกาะลังกาวีที่มีเกาะน้อยใหญ่รวมกันถึง 99 เกาะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านไป
.
นายอภิเชค ไรมัล ผู้ประสานงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉินแห่งองค์การกาชาดสากล กล่าวเตือนว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมต่ำในหลายประเทศของอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย จะทำให้การเปิดประเทศเต็มไปด้วยความเสี่ยงอย่างมากกว่าโลกตะวันตก นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อที่มีผลเป็นค่าบวก หรือหมายถึงติดโรคระบาดโควิด-19 นั้น ยังอยู่ในอัตราที่สูงในหลายประเทศในอาเซียนระหว่าง 20-30% ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีกฎเกณฑ์กำหนดว่า ประเทศที่จะเปิดได้จะต้องมีอัตราการติดเชื้อที่ 5% หรือน้อยกว่า 5% เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
.
นอกจากนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญมากซึ่งอาจทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความยากลำบากมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นโยบายอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 คือชนิดของวัคซีน หลายประเทศในอาเซียนพึ่งพาอย่างมากกับวัคซีนที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีประสิทธิภาพต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ผลิตจากโลกตะวันตก ข้อมูลอ้างอิงจากมหาวิทยาลัยดุ๊คส์ (Duke University) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ประเทศไทยสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมากกว่า 40 ล้านโดส ขณะที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียสั่งซื้อซิโนแวคประเทศละประมาณ 20 ล้านโดส ส่วนกัมพูชาสั่งซื้อซิโนแวค 16 ล้านโดส ด้านอินโดนีเซียซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 15 ล้านโดส และมาเลเซียซื้อซิโนฟาร์ม 5 ล้านโดส