สื่อต่างชาติถามทำไมคนไทยติดหนี้พุ่งกระฉูด ทำไมหนี้คนไทยเข้าโซนอันตรายแล้ว

945
0
Share:

บลูมเบิร์ก สำนักข่าวด้านเศรษฐกิจการเงินและการลงทุนชื่อดังระดับโลก เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน แต่ 1 ใน 3 หรือกว่า 33% ของประชากรในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่ม 10 ประเทศในอาเซียนนั้น เป็นหนี้รวมกันสูงถึง 15 ล้านล้านบาท หรือ 424,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเป็นหนี้นอกระบบประมาณ 1 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึงมูลค่าหนี้มีสูงเกือบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศไทย และทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีของประเทศไทยสูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก และยังสูงกว่าประเทศเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของทวีปยุโรปด้วย

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BIS และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ พบว่า อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีของประเทศไทยยังสูงกว่าประเทศยักษ์ใหญ่ในทวีปเอเชียอีกด้วย เมื่อสิ้นปี 2021 ไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีประเทศพุ่งทะยานถึงระดับ 90% ครองอันดับ 1 ตามด้วยอันดับ 2 มาเลเซียอยู่ที่ 73.1% อันดับ 3 จีนแผ่นดินใหญ่ (เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกและอันดับ 1 เอเชีย) อยู่ที่ 61.6% อันดับ 4 สิงคโปร์อยู่ที่ 58.3% อันดับ 5 อินเดีย (เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก และอันดับ 3 เอเชีย) อยู่ที่ 37.1% และอันดับ 6 อินโดนีเซีย (เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 อาเซียน) อยู่ที่ 17.3%

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ภาวะอันตราย เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่สูงกว่าระดับ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับเตือนภัยที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ Bank for International Settlements หรือ BIS กำหนดไว้เป็นสากล

ในช่วงต้นปี 2021 ภาวะหนี้ครัวเรือนต่อขนาดเศรษฐกิจของไทยพุ่งทะยานถึง 91% ต่อจีดีพี จากที่เคยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับเพียง 60% ต่อจีดีพีในหลายทศวรรษผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าวลดลงเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 86.9% ต่อจีดีพีเมื่อสิ้นปีผ่านมา สาเหตุจากเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวจากการเปิดประเทศหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ผ่อนคลายลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนึ้เสียของคนไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ พุ่งสูงถึง 600,000 ล้านบาท หรือทะยานขึ้นถึง 56% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในปี 2022 ผ่านมา

เกือบ 60% ของประชาชนคนไทยที่มีการกู้ยืมเงินกู้ พบว่ามีมูลค่าหนี้แต่ละประเภทเงินกู้เฉลี่ยสูงกว่า 100,000 บาท ท่ามกลางสัดส่วน 14% มีมูลค่าหนี้คงค้างชำระมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาท ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ไทย เปิดเผยว่า ในปี 2021 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 27,352 บาท

นอกจากนี้ 2 ใน 3 หรือกว่า 66% ของหนี้เงินกู้ที่คนไทยกู้ยืมเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กู้เงินเพื่อไปท่องเที่ยว กู้เงินไปซื้อสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย กู้เงินไปซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าบริโภคอื่นๆที่ไม่มีความจำเป็น ขณะที่หนี้เงินกู้เพื่อซื้อหาที่อยู่อาศัยของคนไทยอยู่ที่ 35% ของเงินกู้ในภาพรวม ซึ่งต่ำกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีหนี้เงินกู้เพื่อซื้อหาที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 60%

สาเหตุภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในระดับอันตราย เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักใหญ่ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากอดีตนับตั้งแต่ปี 2011 มาถึงปัจจุบันในปี 2023 และการแข่งขันตลาดสินเชื่อทุกประเภทของธุรกิจสถาบันการเงินทุกรูปแบบ จากข้อมูลพบว่า ราว 30% ของคนไทยที่มีบัตรเครดิตและมีการกู้ยืมเงินสดอัตราดอกเบี้ยสูงจากสถาบันการเงิน หรือ Personal Loan นั้น มีบัตรเครดิตรวมกันมากกว่า 4 ใบ และมีวงเงินเครดิตรวมกันสูงถึง 10-25 เท่าของอัตราเงินเดือน สิ่งที่น่าตกใจ คือ อัตราดังกล่าวสูงเกินค่ามาตรฐานสากลที่ระดับ 5-12 เท่าของอัตราเงินเดือนปกติ

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในห้วงเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2022 หรือปีผ่านมานั้น จำนวนคนไทยที่ต้องตกอยู่ในสถานะติดหนี้สินพุ่งสูงขึ้นมาเป็น 37% จากเดิมที่เคยมีเพียง 30% เมื่อปี 2017 สาเหตุจากประเทศไทยพึ่งภาคการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ราว 12% ของจีดีพี ในขณะที่รายได้การส่งออกอยู่ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี ล้วนได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ และต่างประเทศปิดพรมแดนเช่นกัน ทำให้ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกตกต่ำอย่างเลวร้ายในรอบหลายทศวรรษผ่านมา