ส.อ.ท. หวังสถานการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งมีเสถียรภาพ เชื่อ 310 เสียงตั้งรัฐบาลได้

166
0
Share:
ส.อ.ท. หวังสถานการณ์ทาง การเมือง หลัง เลือกตั้ง มีเสถียรภาพ เชื่อ 310 เสียงตั้งรัฐบาลได้

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่น่าจะมีปัญหา เพราะขณะนี้แกนนำสามารถรวบรวมได้แล้ว 310 เสียง ซึ่งน่าจะเพียงพอและเหมาะสม เชื่อว่า ส.ว.จะให้การสนับสนุน หากเสียงมากกว่านี้จะเกิดปัญหาเผด็จการทางรัฐสภา กลไกในการตรวจสอบไม่ได้ ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามไทม์ไลน์เลือกนายกรัฐมนตรี ได้ในเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม ในนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นตำ่อยากให้มีการพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยให้ผู้ประกอบการมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น และแรงงานมีรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพ ส่วนการใช้จ่ายงบเพื่อดำเนินนโยบายประชานิยม ควรที่จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหากมีการพิจารณาตามกระบวนการไตรภาคีก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นควรพิจารณาไปตามความสามารถ (Pay by Skill) ซึ่งในสถานประกอบการบางแห่งจะมีค่าจ้างที่สูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาก และการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรดูเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ซึ่งมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นกลไกดูแลให้เกิดความสมดุลยืเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและค่าครองชีพ

นายมนตรี มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรรายย่อย ส่วนรายใหญ่จะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงาน ซึ่งคาดว่าภาคเอกชนจะได้หารือเพื่อทำความเข้าใจกับรัฐบาล เพราะนโยบายที่นำมาใช้หาเสียงอาจมีข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะมีเวลาจำกัด ขอยืนยันว่าภาคเอกชนไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่อยากให้มีการปรับตามความสามารถ

ทั้งนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการจัดทำโพสิชั่นเปเปอร์ที่จะส่งมอบให้รัฐบาล ซึ่งจะเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรีกับกลุ่มตะวันออกกลางและอเมริกาใต้, การแก้ปัญหาราคาพลังงาน, การสานต่อนโยบาย BCG, การเร่งช่วยเหลือ SMEs เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ส.อ.ท.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทุกชุด เพราะวางตัวเป็นกลาง ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการต่างๆ จะเป็นไปไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาเร่งรัดงบปี 67 และเตรียมจัดทำงบปี 68