หน้ากระดานแจง! กรมที่ดินเผยให้ต่างชาติซื้อแค่ที่ดินเพื่ออาศัย ไม่ใช่ซื้อที่ดินเกษตร

258
0
Share:
หน้ากระดานแจง! กรมที่ดิน เผยให้ ต่างชาติ ซื้อแค่ที่ดินเพื่ออาศัย ไม่ใช่ซื้อที่ดินเกษตร

นางพนิตาวดี ปราชญ์นคร รองอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าเราต้องการให้เขาได้เพียงที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น จะไม่ไปกระทบภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอื่นๆ ซึ่งพื้นที่ที่กำหนดราคาที่ดินค่อนข้างสูงและเป็นที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย การให้สิทธิในการถือครองที่ดินจำกัดเฉพาะการใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยรายละไม่เกิน 1 ไร่ หากได้รับสิทธิ ครบ 1 ไร่ แล้ว ต่อมาได้มีการขายที่ดินไปทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แม้จะมีการลงทุนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดก็จะไม่สามารถขอใช้สิทธิดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ หากชาวต่างชาติรายใดไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งให้จัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้

รองอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ว่ากระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รับการมอบหมายให้พิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวใหม่ (Long – term resident visa : LTR) แก่กลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งกรมที่ดินได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน และเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิคนต่างชาติถือครองที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว

การกำหนดแนวทางเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเห็นควรดำเนินการเพียง แค่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการให้สิทธิในการขอถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้รองรับเฉพาะชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิ LTR Visa เท่านั้น และหลักเกณฑ์ไม่ได้แตกต่างกับกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับ2545 เพียงแต่เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับสิทธิ์และระยะเวลาการลงทุน จากเดิม 5 ปีเป็น 3 ปี ถึงจะสามารถยื่นเรื่องขอใช้สิทธิถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ คือ ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง โดยจะมีผลใช้บังคับเพียงแค่ 5 ปี และขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ยังต้องผ่านขั้นตอนการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน