หมอธีระเตือน “ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin” ไม่ได้ใช้รักษาโควิด-19 ไม่ควรหลงเชื่อ

597
0
Share:
ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับการเผยแพร่ผลการวิจัยของวารสารทางการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาฆ่าพยาธิ Ivermectin และยาหลอก ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ประเทศบราซิล

ผลการศึกษาพบว่า ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นยาฆ่าพยาธิ ไม่ได้ช่วยลดปริมาณไวรัส ไม่ได้ช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาล การใช้บริการห้องฉุกเฉิน หรืออาการรุนแรงใด ๆ ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อคำแนะนำยุยงให้ใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโรคโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รุนแรง กระจายทั่ว ยืนยันว่ายากมากที่จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้
สำหรับคนที่ปกติดี การเตรียมอุปกรณ์จำเป็น หยูกยาพื้นฐาน และวางแผนจัดการตนเองหรือครอบครัวยามที่ฉุกเฉินเกิดปัญหาคนในบ้านติดเชื้อขึ้นมา และมีเบอร์ติดต่อ หรือไลน์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่รู้จักเอาไว้ จะเป็นประโยชน์มากเวลาเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นมา และจะลดความเครียดกังวลไปได้ไม่มากก็น้อย

สถานการณ์ปัจจุบันคงเห็นแล้วว่า demand มากกว่า supply และนโยบายเกี่ยวกับการจัดระบบบริการดูแลผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวันนั้นยังมีปัญหามาก ทั้งเรื่องช่องทางการรับบริการ ยา รวมถึงกระบวนการสนับสนุน

สถานพยาบาลจำนวนมากกำลังประสบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรฝ่ายสนับสนุนเกิดติดเชื้อจำนวนไม่น้อยในแต่ละวันจากการปฏิบัติการหรือจากการใช้ชีวิตประจำวันส่วนตัวกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว จำเป็นต้องลดการบริการลง

สวนทางกับนโยบาย “เจอ แจก จบ” ที่อาจส่งผลให้ประชาชนต้องมารับบริการที่สถานพยาบาลมากขึ้น แทนที่จะเป็นบริการแบบทางไกล นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ ทั้งในเรื่องภาระงานต่อบุคลากรและสถานพยาบาล ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ รวมถึงภาระค่าใช้จ่าย เวลา และความลำบากในการเดินทางสำหรับประชาชน

คงจะเป็นประโยชน์ หากทาง ศบค. ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ พิจารณาให้มีการประเมินแบบ 360 องศาทุกมิติ เพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายเจอแจกจบ มิใช่การประเมินความพึงพอใจในกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยและระยะสั้นไม่กี่วัน

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้น ๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ยังต้องป้องกัน เพราะติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ยังควรประเมินสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ

หากผิดปกติ สมรรถนะร่างกาย ความคิดความจำ หรืออารมณ์แตกต่างไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันเวลา เพราะภาวะลองโควิด (Long COVID) จะเกิดขึ้นได้