“หมอธีระ” เผยผลศึกษาชี้สายพันธุ์เดลต้ามีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 46%

338
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่าอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์จากองค์การอนามัยโลก ล่าสุด 10 สิงหาคม 2021 มีเรื่องที่น่ารู้หลายเรื่อง

ความรู้ข้อที่ 1: “โอกาสที่ทำให้ติดเชื้อซ้ำ” มีรายงานจากการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า สายพันธุ์เดลต้าจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ถึง 46% ประโยชน์จากความรู้นี้คือ คนที่เคยติดเชื้อไปแล้วนั้นจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเช่นกัน และควรได้รับวัคซีน

.

ความรู้ข้อที่ 2: “เดลต้าทำให้ปริมาณไวรัสมากกว่าเดิม” การศึกษาจากทั้งจีนและสหราชอาณาจักร พบหลักฐานที่สอดคล้องกันคือ การติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจะทำให้ไวรัสในตัวผู้ติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมกว่า 1,000 เท่า ซึ่งบ่งถึงการแบ่งตัวที่ไว และง่ายต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ ประโยชน์จากความรู้นี้คือ นี่ไม่ใช่ไวรัสกระจอกนะหนู หากมาตรการควบคุมโรคไม่เข้มข้นพอ คงยากที่จะตัดวงจรการระบาด

.

ความรู้ข้อที่ 3: “คุณสมบัติของไวรัสกลายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์”

ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า หากเปรียบเทียบระหว่างอัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า พบว่าเดลต้าน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะติดง่ายขึ้น (transmissibility) แพร่ง่ายขึ้น/มากขึ้น (secondary attack rate) ไม่ว่าจะเป็นคนที่ได้หรือไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อได้พอๆ กัน นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นชัดเจน ทำให้มีโอกาสป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น รวมถึงมีความดื้อต่อระดับแอนติบอดี้จากวัคซีนด้วย

.

ประโยชน์จากความรู้นี้คือ ทำให้เรามาประเมินสถานการณ์ของเราได้ว่า ด้วยการระบาดที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่มีทางที่จะจบลงได้เร็วด้วยมาตรการที่มีอยู่ เพราะการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถทำให้คนหยุดนิ่งได้จริงและทำเพียงเฉพาะบางพื้นที่ ระบบการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอ จำนวนการตรวจทำได้น้อยและไม่ครอบคลุมต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน เงิน ของ เครื่องไม้เครื่องมือ หยูกยา เตียง และวัคซีนมีข้อจำกัดทั้งเชิงปริมาณและประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปิดเกาะเปิดท่องเที่ยวและจะเปิดประเทศ

ตอนนี้เดลต้าระบาดไปทั่วโลก มากถึง 142 ประเทศแล้ว รวมถึงไทยเรา

.

อย่างที่วิเคราะห์ไปวันก่อน ด้วยปัญหาจากลักษณะการตรวจคัดกรองโรคของไทยตอนนี้ น่าจะเห็นตัวเลขอั้นๆ อยู่ได้แค่ชั่วขณะ อันเป็นผลจาก ATK แล้วจะมีโอกาสที่จะกระโดดสูงอย่างทันทีทันใดได้ โดยอาจมาพร้อมกับจำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือวิกฤติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้ และเตรียมพร้อมรับมือให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเมืองในแต่ละจังหวัด และจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัด

.

นโยบายและมาตรการที่ดี ยืนบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ปราศจากกิเลสและอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจ ย่อมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการต่อสู้ที่มีโอกาสสำเร็จ ควบคุมโรคได้ ประชาชนในสังคมจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ดังที่เห็นในหลายประเทศทั่วโลก

.

แต่หากผิดทิศผิดทาง ผลลัพธ์ย่อมนำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งจำนวนติดเชื้อมากมาย จำนวนผู้เสียชีวิตแบบใบไม้ร่วง ความล้มละลายของธุรกิจเล็กกลางใหญ่ และผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจำเป็นที่ทุกคนในสังคมนั้นต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบจากคน กลุ่มคน ที่อยู่ในวงนโยบายและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมโรค การจัดซื้อจัดหายา วัคซีน และอื่นๆ

.

เพราะเชื้อโรคอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดหายนะ ปัจจัยหลักที่จะกำหนดความรุนแรงของหายนะคือ การบริหารจัดการนโยบายครับ สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มีกำลังใจป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตัวเราและครอบครัวไม่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง COVID-19 Weekly Epidemiological Update. 10 August 2021