ไทยพบโรค ASF พึ่งเป็นทางการ เสียหายกว่า 55,000 ล้าน ฉุดส่งออกหมูหาย 200,000 ล้าน

763
0
Share:
หมู

นายภมร ภุมรินทร์ ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี จำกัด เปิดเผยว่า การประกาศให้ประเทศไทยมีโรคระบาดหมู ASF ของกรมปศุสัตว์เมื่อวานนี้ พบว่าตอนนี้ไม่มีความหมายแล้ว เพราะหมูลงหลุมไปหมดแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์รู้ดีว่า มีโรคระบาดหมู ASF เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลานานถึง 3 ปีแล้ว ผู้เลี้ยงหมูทราบกันอยู่แล้วว่า มีโรคนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคเพิร์ส เพราะด้วยประสบการณ์ของการเลี้ยงหมูมา 30-40 ปีแล้ว ย่อมรู้ดีว่า โรคเพิร์สมีวัคซีนป้องกันได้

ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหา แต่ไม่ดำเนินการ ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาโรคระบาด เฉพาะภาคตะวันออกก็เสียหายระดับ 10,000 ล้านบาท ในระดับทั่วประเทศเสียหายกว่า 100,000 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ 11 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในหมู กรมปศุสัตว์ แถลงข่าวผ่านการอัดเทปบนสื่อออนไลน์ ประกาศการยอมรับในการตรวจพบโรคระบาดหมูแอฟริกัน หรือ ASF ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จากการลงพื้นที่เมื่อวานนี้ และตรวจพบการระบาดของเชื้อดังกล่าวในโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม และหากโรคระบาดลุกลามออกไปจนไม่สามารถควบคุมได้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายในอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโรค ASF ไว้ดังต่อไปนี้

กรณีเกิดโรคระบาด 30% ของหมูที่เลี้ยง ความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 16,678,497,000 บาท

กรณีเกิดโรคระบาด 50% ของหมูที่เลี้ยง จะเสียหาย 27,792,723,500 บาท

กรณีเกิดโรคระบาด 80% ของหมูที่เลี้ยงจะเสียหาย 44,468,357,600 ล้านบาท

และกรณีเกิดโรคระบาดเต็ม 100% ของหมูที่เลี้ยง จะเสียหายคิดเป็นมูลค่า 55,585,447,000 บาท

สำหรับการออกมายอมรับการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย ท่ามกลางเสียงสะท้อนว่ามีการปกปิดความจริง และไม่ให้ข่าวแพร่กระจายออกไปนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นทานั้น ยังส่งผลกระทบในด้านความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย ต่างประเทศสั่งระงับการการนำเข้าเนื้อหมูชำแหละ และเนื้อหมูแปรรูป คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การสูญเสียโอกาสการส่งออกหมูมีชีวิต หรือหมูเป็น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท สำหรับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของการส่งออกหมูมีชีวิตจากประเทศไทย ได้แก่ กัมพูชา มูลค่า 10,000 ล้านบาท สปป.ลาว 1,700 ล้านบาท เมียนมา 700 ล้านบาท และเวียดนาม 3,400 ล้านบาท ความเสียหายด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท ความเสียหายด้านยาสัตว์อีก 3,500 ล้านบาท โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานการระบาดของโรค ASF ที่ 50% ของจำนวนหมูที่เลี้ยงไว้