หมอประสิทธิ์ชี้โควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายโรคประจำถิ่น และมีโอกาสกลับมาระบาดใหญ่อีก

388
0
Share:
โควิด-19

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมื่อ 12 เม.ย.65 การจัดแบ่งสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลก ปัจจุบันเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คือ เดลตา และโอไมครอน ซึ่งเดลตากำลังถูกทดแทนด้วยโอไมครอนในหลายประเทศ รวมทั้งในไทย สำหรับสายพันธุ์ที่สร้างผลกระทบในเวลานี้ยังเป็นสายพันธุ์โอไมครอน

จากข้อมูลเมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตกว่า 6 ล้านคน ขณะที่จำนวนการเสียชีวิตช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ตัวสายพันธุ์ของไวรัสเอง และมีการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนมากเกิดป้องกันและการเสียชิวตลดลง เมื่อดูการระบาดในต่างประเทศ พบว่าทวีปที่ถูกจู่โจมหนักสุด คือ ยุโรป อัตราการลดลงยังช้า เมื่อแทบกับอเมริกา แต่หากดูรายพื้นที่ ยุโรปขณะนี้เลยจุดพีคของการระบาดของโควิด-19 แล้ว สำหรับอเมริกาการแพร่ระบาดของโอไมครอนลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเอเชียตะวัออกเฉียงใต้ก็เริ่มลดลง จากข้อมูลตอนนี้พบว่าการแพร่ระบาดของโอไมครอนทั่วโลกมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในต่างประเทศมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 เกือบ 80% ซึ่งประเทศที่คุมการระบาดได้ดี มักจะฉีดเข็มกระตุ้นกว่า 50% ตอนนี้สถานการณ์ในไทย ข้อมูล ณ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ฉีดวัคซีนไปแล้ว 132 ล้านโดส จากประชากร 70 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 80% และ 3 ใน 4 ได้เข็มรับ 2 ส่วนคนที่ได้รับเข็มกระตุ้นเพียง 36% ทำให้ช่วงเวลานี้ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้จำนวนผู้เสียชีวิตเหลือแค่เลข 2 หลัก หนึ่งในข้อมูลที่จะบอกว่าผู้เสียชีวิตลดลง คือ ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ ซึ่งขณะนี้ตัวเลขเริ่มนิ่งและไม่ขยับขึ้น หากเป็นเช่นนี้ ภายใน 1-2 สัปดาห์ คาดว่าผู้เสียชีวิตน่าจะลดลง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การเกิดขึ้นของโอไมครอนที่ระบาดเร็วกว่าเดลตา แต่ไม่รุนแรง ทำให้สายพันธุ์การแพร่ระบาดทั่วโลกเปลี่ยนไป เป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิชาการมองว่า กำลังจะเดินไปสู่โรคประจำท้องถิ่น ประกอบกับความเหนื่อยล้าจากการระบาดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนในสังคมทั้งไทยและทั่วโลกอยากเห็นปลายทางของการแพร่ระบาด แต่คำว่าโรคประจำท้องถิ่นไม่ได้มีนิยามตายตัว ซึ่งเป็นโรคทั่วไป พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือมีช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ อาจมีการระบาดมากบ้างครั้งคราว ไม่เกินที่คาดหมาย เป็นโรคที่มีมาตรการควบคุม โรคประจำถิ่นบางครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ปีละกว่า 400,000 ราย เช่น ไข้ป่ามาลาเลีย ขณะที่บางโรคอาจพบได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรบางพื้นที่ แต่มีอาการไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูคุณลักษณะของโรคประจำท้องถิ่นจะพบว่า ในเวลานี้การติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายของโรคประจำท้องถิ่น และยังมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีก โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากที่หลายประเทศมีการส่งสริมด้านเศรษฐกิจ การผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ การส่งเสริมกิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่อาจจะมีความเสี่ยงทำให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาด ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำ ยังไงก็ต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่จะต้องบริหารความเสี่ยง โดยเน้นการป้องกันและการรักษา แม้การป้องกันจะยาก แต่เราสามารถลดจำนวนได้