หอการค้ามองบวกปรับเป้า GDP ปีนี้ดีขึ้นเหลือติดลบ 6.3% จากเดิม ติดลบ 9.4%

522
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทยปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไทยปีนี้ติดลบ 6.3% จากเดิมคาดติดลบ 9.4% ด้านส่งออกปีนี้คาดติดลบ 7.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดติดลบ 0.9% สำหรับในปี 2564 คาด GDP จะขยายตัวได้ 2.7% ขณะที่การส่งออกคาดขยายตัว 3.5% ส่วนการนำเข้าคาดขยายตัว 4.5% จากปีนี้คาดติดลบ 13.1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1%
.
สำหรับแนวโน้มในปี 2564 นั้น มองว่า GDP จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในไตรมาส 2 / 2564 โดยมองการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยกดดันจากความเปราะบางของตลาดแรงงาน และปัญหาภัยแล้ว แต่จะได้มาตรการของภาครัฐช่วยสนับสนุน โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในหน้าจะขยายตัวได้ 2.7% จากปีนี้คาดติดลบ 1%
.
ด้านการลงทุนของภาคเอกชน จะฟื้นตัวอย่างช้าๆตามการส่งออกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดว่าการลงทุนเอกชนในปีหน้าจะขยายตัว 2.8% จากปีนี้คาดติดลบ 10.7% สำหรับการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ จะขยายตัวได้ดีจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐในปีหน้าจะขยายตัว 5% จากปีนี้คาด 3.9% ด้านการลงทุนภาครัฐ คาดปีหน้าขยายตัว 12.6% จากปีนี้คาดขยายตัว 12.2%
.
ขณะที่การส่งออกปีหน้า มองจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งจะมีผลจนถึงช่วงครึ่งปีแรกปีหน้า และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มพลิกกลับมาเป็นบวกจากราคาน้ำมันดิบโลก ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
.
ส่วนปัจจัยบวกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563-2564 คือการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่มีความก้าวหน้า เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มที่ฟื้นตัวภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย
.
ด้านปัจจัยลบ คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัว ความเปราะบางทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยางมาก ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน