หอการค้าไทยคาดโควิด 19 ฉุด GDP ไทยปีนี้ติดลบ 3.4 – 4.9%

743
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประมาณการตัวเลข GDP ปี 2563 จะติดลบ 3.4-4.9% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 1.1% ส่วนตัวเลขส่งออกปีนี้คาดติดลบ 8.8 – 12% และเงินเฟ้อติดลบ 0.5-1% โดยปัจจัยกดดันหลักยังคงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงทั่วโลก
.
อย่างไรก็ตามช่วงแรกได้มีการคาดการณ์ GDP ติดลบถึง 8.8% เพราะยังไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิดระยะที่ 3 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาทออกมา แต่เมื่อมีมาตรการออกมารองรับจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
.
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยหรือ TCC-CI ในเดือนมี.ค.63 อยู่ที่ระดับ 37.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ที่เคยทำสำรวจมา ซึ่งถือว่าลงสู่ช่วงที่มีความเสี่ยงสูง โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง การส่งออกที่ลดลง
.
โดยภาพรวมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทั่วโลกยังต้องเฝ้าระวัง แต่ประเมินว่าการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งคาดว่าภาคธุรกิจต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่วนสถานการณ์ในยุโรปและสหรัฐฯ อาจเริ่มดำเนินการธุรกิจได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป
.
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มองว่าจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงส่งผลกระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจไทยหายไปประมาณ 1.13 ล้านล้านบาท แต่ยังมีการนำเข้าสินค้าและบริการรวมถึงพ.ร.ก.ช่วยเหลือต่างๆ เข้ามาทดแทน จึงคาดการณ์มูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยรวมทั้งหมดจะหายไป 7.52 แสนล้านบาท โดยคาดว่าอย่างเร็วสุดนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส4 เป็นต้นไป
.
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยเหลือทั้งภาคครัวเรือน-ภาคธุรกิจ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก เช่น ลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน,ชดเชยรายได้ให้แก่แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว , พิจารณาจ่ายเงินอุดหนุน 25-50% ของรายจ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน เพื่อชะลอการปลดคนงาน , รักษาอำนาจซื้อของประชาชนโดยควบคุมระดับราคาสินค้าที่จำเป็น, อนุมัติให้มีการจ้างงานแบบรายชั่วโมง(ชั่วคราว) เพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาเลิกจ้างแรงงานในภายหลัง
.
ส่วนภาคธุรกิจแนะลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคธุรกิจ ,ลดค่าไฟฟ้า/น้ำประปา ปรับลดอัตราส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เลื่อนกำหนดเวลาในการจ่ายชำระภาษี , อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้าง สำหรับพนักงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน และค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงที่มีมาตรการ Lock Down (หรือตลอดช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19) เป็นต้น
.
สำหรับข้อแนะนำระยะที่สองสำหรับภาคครัวเรือน แนะเร่งการลงทุนภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน,อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างกรณีการจ้างงานใหม่ เฉพาะคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน มาหักภาษีได้ 2 เท่าในช่วง 1 ปีหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายเป็นปกติและ เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนงานและหางานใหม่
.