หุ้นไทยปิดตลาดวันนี้ขยับขึ้น 3.66 จุด รีบาวด์รับบาทมีแนวโน้มดี รัฐดูแลขายชอร์ตหุ้น

147
0
Share:
หุ้นไทย ปิดตลาดวันนี้ขยับขึ้น 3.66 จุด รีบาวด์รับบาทมีแนวโน้มดี รัฐดูแลขายชอร์ตหุ้น

ดัชนี SET Index ตลาดหุ้นไทย ปิดวันนี้ที่ 1,419.44 จุด ปรับขึ้น 3.66 จุด หรือ +0.26% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 37,420.63 ล้านบาท โดยดัชนีย่อตัวช่วงแรกก่อนดีดขึ้น โดยดัชนีทำจุดต่ำสุด 1,409.55 จุด ทำจุดสูงสุดที่ 1,419.86 จุด

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ย่อตัวแล้วดีดขึ้น ช่วงแรกปรับลงจากแรงกดดัน GDP ไตรมาส 3/66 ต่ำกว่าคาด แต่สภาพัฒน์มองว่าปี 67 จะโตได้ 3.2% ยังไม่รวมมาตรการภาครัฐ ขณะที่สัญญาณเงินบาทมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งเห็นภาพ ตลท.-ก.ล.ต.เริ่มเข้ามาดูแลประเด็นที่นักลงทุนกังวลช่วยฟื้นความเชื่อมั่นจากรายย่อยได้บ้าง

3 อันดับหลักทรัพย์ ที่มีการซื้อขายสูงสุดได้แก่
1. PTT มูลค่าการซื้อขาย 1,737.94 ล้านบาท ปิดที่ 34.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท
2. CPALL มูลค่าการซื้อขาย 1,340.85 ล้านบาท ปิดที่ 56.00 บาท ลดลง 0.75 บาท
3. PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 1,142.05 ล้านบาท ปิดที่ 160.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้อยู่ในภาพย่อตัวแล้วดีดขึ้น เป็นภาพของการรีบาวด์ โดยช่วงแรกปรับลงจากแรงกดดันตัวเลข GDP ไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะขยายตัว 2.2% แต่สภาพัฒน์มอง GDP ปีนี้ขยายตัวราว 2.5% ก่อนจะเร่งตัวเป็น 3.2% ในปี 67 ยังไม่ได้รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากต้องรอการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็สะท้อนภาพเบื้องต้นว่าปี 67 เศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ได้กระทบกับ Sentiment การลงทุนมาก

อีกทั้งสัญญาณค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตลาดหุ้นเริ่มกล้าสู้มากขึ้นกับ Valuation ระดับนี้ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มเข้ามาดูแลประเด็นที่นักลงทุนมีความกังวลทั้งเรื่อง Short Sell และ Naked Short Sell มากขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นใจการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยกลับมาได้บ้าง

ส่วนแนวโน้มในวันพรุ่งนี้คาดดัชนีแกว่งขึ้นต่อ อยู่ในภาพของการย้ำฐานและยืนเหนือโซน 1,400 จุดได้ โดยนักลงทุนรอติดตามมาตรการเพิ่มเติมจากภาครัฐ อาทิ Thailand ESG Fund ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้น Sentiment การลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี นโยบายการเงินของสหรัฐเป็นหลัก โดยคือวันที่ 21 พ.ย. จะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดครั้งที่แล้ว (FED Minute) และกลางสัปดาห์รายงานตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐ ส่วนปลายสัปดาห์ติดตามการรายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐและยุโรป โดยให้กรอบแนวรับที่ 1,408 จุด และแนวต้าน 1,430 จุด