ห้างสรรพสินค้าไม่ทนอีกจ่อยกเลิกช่องเช็คสแกน-จ่ายสินค้าด้วยตัวเอง พบห้างเสียรายได้พุ่ง

451
0
Share:
ห้างสรรพสินค้า ไม่ทนอีกจ่อ ยกเลิก ช่องเช็คสแกน - จ่ายสินค้าด้วยตัวเอง พบห้างเสียรายได้พุ่ง

ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เรียกว่าโมเดิร์นเทรดในสหรัฐอเมริกา เช่น วอลมาร์ท คอสโก้ ทาร์เก็ต เป็นต้น เตรียมยกเลิกเคาน์เตอร์หรือช่องให้บริการสแกนและจ่ายราคาสินค้าด้วยตัวเอง หรือ Self Check ของลูกค้า

สาเหตุจากได้รับการแสดงความคิดเห็นในทางลบเป็นจำนวนมากขึ้นจากลูกค้าที่ใช้บริการช่องหรือเตาเตอร์ดังกล่าว เช่น แทนที่จะสะดวกสบาย กลับกลายเป็นสร้างความลำบากในการใช้งาน เครื่องสแกนกลับไม่สามารถอ่านแถบรหัส หรือบาร์โค๊ดสินค้าถูกต้อง การสแกนสินค้าเพื่อคิดเงินทำงานอย่างเชื่องช้า การใช้งานของเครื่องสแกนไม่มีความแน่นอนเมื่อสินค้าบางประเภทมีแถบบาร์โค้ดมากกว่า 1 แถบ

ในขณะเดียวกัน ปัญหาการใช้งานกลับสร้างความเสียหายให้กับห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรด ได้แก่ ไม่เพียงยอดขายไม่เข้าเป้า แต่ยังก่อให้เกิดภาระขาดทุน เนื่องจากลูกค้าจงใจแอบไม่สแกนบาร์โค้ดบนตัวสินค้า ตั้งใจสแกนบาร์โค้ดผิดกับตัวสินค้าจริง มีการสแกนสินค้าผิดโดยไม่ตั้งใจ ปัญหาดังกล่าวส่งผลมาถึงการคิดเงินยอดขายไม่ถูกต้องเมื่อตรวจสอบกับสินค้าที่ขายออกไป ทำให้ต้องสูญเสียรายได้

บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ได้ทำผลสำรวจพบว่า การติดตั้งระบบ หรือเคาน์เตอร์ดังกล่าว รวมถึงการซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน กลับสร้างอัตราการสูญเสียรายได้จากโอกาสการขายสินค้าที่ควรจะเป็นถึงราว 4% ที่สำคัญ อัตราดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสูญเสียรายได้ของค้าปลีกทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ระบบเคาน์เตอร์หรือช่องให้บริการสแกนและจ่ายราคาสินค้าด้วยตัวเอง

ห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา วอลมาร์ท เปิดเผยว่าได้ยกเลิกบริการเคาน์เตอร์หรือช่องให้บริการสแกนและจ่ายราคาสินค้าด้วยตัวเองในรัฐนิว เม็กซิโก นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ห้างโมเดิร์นเทรดชื่อดังคอสโก้กลับมาเพิ่มพนักงานยืนให้บริการคู่กับเคาน์เตอร์หรือช่องให้บริการสแกนและจ่ายราคาสินค้าด้วยตัวเอง รวมถึงช้อปไรท์ ตัดสินใจถอนระบบและบริหารดังกล่าวทั้งหมดออกจาก ในรัฐเดลาแวร์

แม้แต่แบรนด์เครือข่ายร้านขายสินค้าจำเป็นรายวัน และเวชภัณฑ์ ชื่อดังอย่าง บูธ (Booth) จากสหราชอาณาจักร ที่เปิดร้านสาขาจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จะถอดระบบดังกล่าวออกเกือบทั้งหมดจาก 28 สาขา เหลือแค่ 2 สาขา หลังจากลูกค้าแสดงความเห็นไม่พอใจเมื่อเกิดปัญหาความช้าในการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือเครื่องดื่มที่มีการระบุวันหมดอายุ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์

ทั้งนี้ บริการเคาน์เตอร์หรือช่องให้บริการสแกนและจ่ายราคาสินค้าด้วยตัวเองนี้มีการนำมาใช้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 หรือเมื่อกว่า 43 ปีผ่านมา เนื่องจากเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในยุคสมัยนั้น เมื่อมาถึงยุคทศวรรษ 2000 ระบบดังกล่าวนำมาใช้เพื่อควบคุมต้นทุน จนกระทั่งในยุคทศวรรษ 2020 วัตถุประสงค์ในการใช้ระบบนี้เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับพนักงาน ทำให้ลดขั้นตอนและเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่แคชเชียร์ได้