“อนุทิน ชาญวีรกูล”เผยผลประชุมแผนบินไทยยังไร้ข้อสรุป

670
0
Share:

ภายหลังจากกระทรวงคมนาคม มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับกระทรวงคมนาคม // นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม // นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ครึ่งจึงเลิกประชุม
.
โดยหลังการประชุม รัฐมนตรีทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อมวลชน โดยนายอนุทิน กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลในส่วนกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางที่เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ส่วนจะเลือกแนวทางแบบใด ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกทั้งการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน จะไปพูดแทนไม่ได้
.
ส่วนเรื่องกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาท ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทำไม่ได้ และจะหาแนวทางอื่นที่ทำให้เสียหายน้อยที่สุด สรุปคือมานั่งฟังแนวทางก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร และทุกอย่างต้องรายงานพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่
.
ส่วนการปรับปรุงแผนฟื้นฟูการบินไทยอาจจะเสนอต่อที่ ครม. ไม่ทันในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา 23 จุดเสี่ยงให้หมดก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนดังกล่าว
.
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีรายงานว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ทั้งสองคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด
.
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แผนฟื้นฟูยังมีปัญหาอยู่มาก และภายในที่ประชุมยังมีความเห็นด้วยว่า การค้ำประกันกู้เงินจากกระทรวงการคลัง วงเงิน 54,000 ล้านบาท อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดขณะเดียวกันในการศึกษาแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว
.
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอถึงแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยให้การบินไทยยื่นฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการล้มละลาย โดยอาจยื่นเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง เพื่อทำให้การบินไทยเริ่มต้นฟื้นฟูธุรกิจ โดยปราศจากภาระใช้หนี้สินที่เป็นปัญหาผูกมัดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน รวมทั้งได้พิจารณาถึงขั้นตอนของการบังคับคดี ว่าจะมีเงื่อนไขหรือรูปแบบดำเนินการอย่างไร