อย่าชะล่าใจ! แบงก์ชาติมองเศรษฐกิจไทยใช้ได้ แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ เหตุหนี้ยังสูง

249
0
Share:
อย่าชะล่าใจ! แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย มอง เศรษฐกิจไทย ใช้ได้ แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ เหตุหนี้ยังสูง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ Towards a more resilient future ปรับโหมดนโยบายการเงินสู่เศรษฐกิจยั่งยืน ในงานสัมมนา Thailand Next Move 2024 ว่า สำหรับการที่ประเทศไทยจะก้าวต่อไปสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนนนั้น จำเป็นที่จะต้องมี resiliency(ความยืดหยุ่น) ที่มากก็เดิม โดยการมี resiliency ไม่ใช่แค่การมีเสถียรภาพ แต่ resiliency มีองค์ประกอบเรื่องความทนทาน ความยืดหยุ่น และการล้มแล้วลุกได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม โลกนั้นเปลี่ยนไปเยอะ และมีความเสี่ยงต่างๆเพิ่มสูง ซึ่งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกบางอย่างเราอาจคุ้นชิน ที่เรายังสามารถรับมือได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ในตอนนี้ก็มีความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้คาดการณ์ลำบากว่า ผลท้ายสุดจะเป็นอย่างไรบทเรียนในโลก 10-20 ปี นั้นที่ดูออกยาก คือ ผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงที่สูงมาก อาทิ สถานการณ์ในตะวันออกลาง อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง จึงเป็นที่มาว่า resiliency จะกลับมาเป็นพระเอก จากเดิมที่เราเน้นกระตุ้นเพื่อออกจากวิกฤตโควิด แต่ขณะนี้ด้วยบริบทเปลี่ยนแปลง resiliency จึงกลับมามีบทบาท

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ให้คำแนะนำแต่ละประเทศในการดูแลเศรษฐกิจนั้น คือเสถียรภาพ เช่น การทำเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย เก็บลูกกระสุนการคลังไว้ ดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และปรับโครงสร้างต่างๆให้รับกระแสโลกใหม่ๆ และทำอย่างไรจะไปถึงจุดนั้นได้นั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ คือ การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หมายถึง ไม่มีวิกฤติ และดูแลให้เศรษฐกิจโตตามศักยภาพที่ 3-4% ต่อปี เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% และ ที่สำคัญอย่าให้เกิดความไม่สมดุลการเงิน

“ถ้าถามว่าตอนนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทย เป็นอย่างไร ตอบสั้นๆ คือ โอเค ใช้ได้ แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ โดยถ้าดูจากตัวเลขเศรษฐกิจ มีบางตัวที่โอเค คือ มิติความมั่นคงในต่างประเทศ มีความมั่งคั่ง จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง งบดุลของบริษัทขนาดใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ส่วนเสถียรภาพที่โอเคน้อยหน่อย ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ที่91% เทียบจีดีพี แม้จะลดลงจากสูงสุดที่ 94% แล้วแต่ก็ยังสูงมาก และอยู่ในแนวโน้มโตตลอดในช่วงโควิด โดยเกณฑ์ต่างประเทศทั่วไป ก็ต้องรักษาไว้ที่ระดับ 80% เพราะฉะนั้น ในมิตินี้ ดูยังมีปัญหา และจับตามอง อีกตัวคือ ความอ่อนแอภาคการคลัง สะท้อนจากตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ระดับ62%นั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ก็มีหลายประเทศที่สูงสุดกว่าไทย แต่ถ้าเทียบอดีตของไทยก็ถือว่าสูงกว่าที่เคยเป็น เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยมองว่ายังไม่ถึงขั้นเกิดปัญหา แต่ต้องใส่ใจ และชะล่าใจไม่ได้