อย่าลืมวัด! หมอธีระชี้ วัด-โรงเรียนเป็นอีกช่องทางช่วยคนติดโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ

526
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในครอบครัวไทย โดยเฉพาะในบ้านที่พักอาศัย มีดังนี้

การพบคนที่ติดเชื้อโควิดแล้วตัดสินใจออกไปนอนเร่ร่อนที่สถานีตำรวจ เพราะที่บ้านคับแคบ กลัวคนในบ้านจะติดเชื้อ ต้องนำมาคิดวางแผนทบทวน เพื่อช่วยเหลืออย่างจริงจัง

เพราะนี่เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่า หากประกาศนโยบายให้กักตัวที่บ้านหรือ Home isolation เพราะไม่สามารถมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อได้เพียงพอ จะเกิดปัญหาตามมาในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

สัจธรรมคือ คงมีคนเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่จะมีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แยกกักตัวออกจากสมาชิกในบ้านได้

ความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีปัจจุบัน ความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อแก่สมาชิกในบ้านนั้นมีราว 30% ซึ่งถือว่าสูง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เราจะเห็นผลกระทบตามมาหลังจากประกาศนโยบายกักตัวที่บ้าน ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

หนึ่ง การติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการกระจายไปยังส่วนอื่นในสังคมเป็นทอดๆ

สอง คนที่บ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็อาจตัดสินใจเร่ร่อนออกจากบ้านดังเช่นที่เห็นในกรณีที่เป็นข่าว ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้มากขึ้น

แม้ทางภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจะหาเตียงรองรับ ทั้งที่สถานพยาบาลระดับต่างๆ รวมถึงการสร้างรพ.สนาม และขยายความร่วมมือไปยัง hospitel มากขึ้น แต่จำนวนที่จะรองรับได้ยังคงมีจำกัด และน้อยกว่าจำนวนการติดเชื้อใหม่ที่มีจำนวนหลายพันต่อวันอย่างต่อเนื่อง

สังคมไทยเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักสัมพันธ์กับ บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร

ณ จุดวิกฤติเช่นนี้ อาจเป็นประโยชน์ หากพิจารณาขอความช่วยเหลือจากวัด และโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนมาก กระจายทั่วพื้นที่ของแต่ละจังหวัด โดยทำการพิจารณาจัดพื้นที่เพื่อเป็นที่พักสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เน้นพื้นที่ที่กว้าง จัดระยะห่างระหว่างกันได้ ระบายอากาศดี และจัดระบบสนับสนุนทางการแพทย์ อาหารและน้ำ และสุขาภิบาลตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

แม้จะมีข้อจำกัดมากกว่าระบบ hospitel และรพ.สนามที่ทำมา แต่ทางเลือกเพิ่มเติมนี้ น่าจะช่วยคนตกทุกข์ได้ยากจำนวนไม่น้อยในสังคม

สิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรับมือในระยะถัดจากนี้คือ การขยายจุดบริการตรวจคัดกรองโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและปลดล็อคกฎเกณฑ์ต่างๆ, การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน้ากากอนามัย และเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์, และการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ mRNA vaccines, protein subunit vaccine มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ

สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน เรียนย้ำว่า การใส่หน้ากากนั้นสำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า

เราต้องอยู่รอดปลอดภัย พ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้