อินโดนีเซียยกเลิกห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม แก้ปัญหาราคาแพงในประเทศสำเร็จ

354
0
Share:
น้ำมันปาล์ม

รัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก ได้มีมติยกเลิกมาตรการห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปต่างประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป สำหรับมาตรการยกเลิกส่งออกดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายนนี้เป็นต้นมา รวมระยะเวลาเกือบ 1 เดือน

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโค วิโดโด้ กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มที่มีราคาแพงภายในประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากตัดสินใจห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มไปตลาดต่างประเทศเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

โดยปกติ อินโดนีเซียต้องการปริมาณน้ำมันปาล์มเดือนละ 194,000 ตัน เมื่อเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย และนานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันปาล์มหดหายอย่างมากเหลือเพียง 64,500 ตัน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศมีราคาแพงอย่างก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มในช่วงเกือบ 1 เดือนผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มในประเทศกลับมามีมากขึ้นที่ระดับ 211,000 ตัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศลดต่ำลงมาอยู่ระหว่าง 17,200-17,600 รูเปี๊ยะ

ก่อนหน้านี้ สถานการณ์เงินเฟ้อของราคาอาหารในตลาดโลกพุ่งสูงต่อเนื่องเป็นสถิติประวัติการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากประเทศรัสเซียทำสงครามและบุกรุกประเทศยูเครน ทำให้เกิดผลกระทบกับราคาอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์สำหรับบริโภค เช่น น้ำมันปาล์ม

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ราคาน้ำมันพืชที่ใช้ประกอบทำอาหารมีราคาขายปลีกในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนอยู่ที่ลิตรละ 1.84 ดอลลาร์สหรัฐ หรือลิตรละกว่า 62.60 บาท เพิ่มขึ้นถึง 40% ตั้งแต่ต้นปีนี้ แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศราคาเพดานกำหนดไว้สำหรับการขายน้ำมันพืชจำนวนมากไม่เกินลิตรละ 14,000 รูเปี๊ยะ แต่ในความเป็นจริง ราคาซื้อขายในช่วงเวลานั้นกลับพุ่งถึง 19,800 รูเปี๊ยะต่อลิตร

ทั้งนี้ ตลาดซื้อขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ ชิคาโก บอร์ด ออฟ เทรด ที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า ทันทีที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศใช้มาตรการยกเลิกการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยจะมีผลวันที่ 28 เมษายนนั้น ทำให้ราคาน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารซึ่งเป็นทางเลือกมีราคาพุ่งสูงทำสถิติเป็นประวัติการณ์ทันที ได้แก่ ราคาน้ำมันถั่วเหลืองมีราคาพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์แตะ 82.31 เซ็นต์ต่อปอนด์ พุ่งขึ้น 4.5%