อินโดฯทำสถิติใหม่ติดโควิดวันเดียวพุ่งเดิน 300 ราย

644
0
Share:

กระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย เปิดเผยวันนี้ 13 มกราคม 2564 พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมา พุ่งสูงถึง 302 ราย ไม่เพียงทำสถิติเสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดในประเทศอินโดนีเชียเป็นต้นมา แต่ยังทำสถิติเสียชีวิตมากกว่าวันละ 300 รายเป็นครั้งแรกอีกด้วย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 24,645 ราย เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 อินโดนีเซียเผชิญสถิติเสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ที่ 258 ราย
.
ขณะที่จำนวนผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมาทะยานสูงถึง 10,047 ราย ไม่เพียงทำสถิติติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 2 จากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10,617 เมื่อวันที่ 8 ที่ผ่านมา แต่ยังทำสถิติติดมากกว่า 10,000 คนเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 7 วันผ่านมา โดยนับตั้งแต่วันที่ 6-12 มกราคม จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นทุกวัน รวมสะสมถึง 67,217 ราย หรือเฉลี่ยติดเชื้อวันละ 9,602 ราย หรือชั่วโมงละ 400 ราย หรือใน 1 นาทีมีชาวอินโดนีเซียติดเชื้อ 6-7 ราย อินโดนีเซียติดอันดับประเทศที่มีผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 อยู่อันดับที่ 21 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน
.
สถานการณ์การแพร่ระบาด และเสียชีวิตของผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 ในอินโดนีเซียตามข้างต้น เกิดขึ้นก่อนที่ในวันนี้ 13 มกราคม 2564 ประธานาธิบดีอินโดนีเซียนายโจโควี่ จะเป็นคนแรกของประเทศอินโดนีเชียที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 จากบริษัทเวชภัณฑ์ที่มีชื่อว่าซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac) จากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวอินโดนีเซียในการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
.
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ซิโนแวค ที่ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทเวชภัณฑ์อื่นๆจากประเทศในฝั่งตะวันตก
.
กระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า จากการทดลองฉีดวัคซีนซิโนแวคกับอาสาสมัครชาวอินโดนีเซีย พบว่ามีประสิทธิภาพเพียง 65% เมื่อไปทดลองฉีดในบราซิลกับอาสาสมัครจำนวน 13,000 คน พบว่ามีประสิทธิภาพ 78% ในการป้องกันกรณีที่มีอาการป่วยเบาบาง แต่มีประสิทธิภาพถึง 100% กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง อย่างไรก็ตาม สื่อในบราซิล เปิดเผยว่าประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีนซิโนแวคอยู่ระหว่าง 50-60% เท่านั้น ในขณะที่เมื่อนำไปฉีดทดลองในประเทศตุรกีกับจำนวนอาสาสมัครจำนวนน้อย ได้ประสิทธิภาพถึง 91.25%
.
ทั้งนี้ การทดลองฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ซิโนแวคที่ผลิตโดยจีนแผ่นดินใหญ่กับอาสาสมัครในประเทศอินโดนีเชียยังคงไม่เพียงพอ อัตราการพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในตัวผู้รับการทดลองฉีดวัคซีนซิโนแวค ลดลงจาก 31% มาอยู่ที่ 25% ซึ่งยังคงเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับอัตราที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำว่าต้องอยู่ที่ 5%