เกียรตินาคินภัทรแนะรัฐบาลควรวางยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์-ระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับกลุ่ม Medical Tourism

786
0
Share:

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 รัฐบาลควรวาง Positioning หรือจุดยืนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย โดยจะต้องประเมินโครงสร้างทางเศรษฐกิจและศักยภาพด้านการแพทย์และระบบสาธารณสุข เช่น การวาง Positioning ด้านการแพทย์เพื่อรองรับการสร้างรายได้จากเมดิคอลทัวริสซึม (Medical Tourism) หรือเฮลท์ ทัวริสซึม (Health Tourism), การยกระดับประเทศเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัพพลายเชนในภาคการผลิตของโลก
.
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ประเมินว่า New Normal ที่จะเกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เช่น อาจเห็นการท่องเที่ยวแบบเช่าเครื่องบินเหมาลำเป็นกลุ่มเล็ก เนื่องจากต้องการความปลอดภัยในด้านสุขภาพและยังมีความจำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคม
.
นอกจากนี้ GDP ของไทยในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราเติบโต -5% และหากมีการแพร่ระบาดในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจะทำให้ GDP มีอัตราเติบโต -10% โดยคาดว่าแนวโน้ม GDP ทั่วโลกในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้จะลดลงค่อนข้างมาก และหากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะทำให้ GDP ของโลกในปี 2563 มีแนวโน้ม -6% และอาจติดลบอย่างต่อเนื่องถึงปี 2564 จากที่คาดการณ์ว่าจะมีโอกาสกลับมาเติบโตได้ 5%
.
สำหรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการ เนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยกรณีที่ล็อกดาวน์และปิดประเทศเป็นระยะเวลา 1 เดือน ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ เช่น ส่งออก -5% // ท่องเที่ยว -30% ถึง -40% // อุตสาหกรรมยานยนต์ -20% // และอสังหาริมทรัพย์ -20% ถึง -30%
.
ส่วนกรณีที่มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ยังคงต้องมีมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การกักตัวกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด