เข็นให้ได้! เอกชนเปิดเป้าส่งออกไทยปี 64 โตได้ 7-15% บน 7 ปัจจัยบวก-ลบ

388
0
Share:

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่าได้คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตมากกว่า 7% โดยการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจากนี้อยู่ที่ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสเติบโตถึง 10% โดยส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนี้หากต้องการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 15% การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจากนี้อยู่ที่ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โอกาสอาจจะน้อยเนื่องจากต้องมีหลายปัจจัยประกอบกับผู้ส่งออกต้องผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่

การส่งออกจะโตได้ต้องมีปัจจัยบวกที่สนับสนุน ได้แก่ 1.การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ

2.ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า 3.ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1.แรงงานขาดแคลน เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาจากการปิดประเทศ ประกอบกับปัจจุบันจำนวนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ยังไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิตเท่าที่ควร ยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

2.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ อาทิ กรณีคลัสเตอร์การระบาดในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศ เริ่มส่งกระทบต่อกระบวนการผลิตที่ต้องหยุดชะงักชั่วคราวและการเลื่อนส่งมอบสินค้าไปยังประเทศปลายทาง 3.ปริมาณปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอและมีต้นทุนเพื่มสูงขึ้น

4.ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย วิงวอนให้รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเร่งฉีดวัคซีคให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิตให้เร็วที่สุด เนื่องจากวัคซีนเป็นเครื่องป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเดียวที่สามารถช่วยภาคการส่งออกและภาคการผลิตซึ่งเป็นซัพพลายเชนของการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดียวที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ให้สามารถฟื้นตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศให้ยังอยู่รอดได้ต่อไป