เงินอัดฉีดรัฐ 2.4 แสนล้านไม่พอช่วยเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ลดเป้าปีนี้ ชี้ศ.ก.ไทยมีลุ้นถดถอยซ้ำสอง

469
0
Share:
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เปิดเผยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ 2564 เหลือ 2.0% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.6% ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาด และเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 2.4 แสนล้านบาทก็ตาม
เริ่มจากการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเมื่อวานนี้ ซึ่งประกาศว่ามีงบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือส่วนสุดท้ายของการกู้ยืมเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ศูนย์ EIC เปิดเผยว่า เม็ดเงินตามแผนที่จะเข้าพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 จะมีเพียง 8.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลกระทบการระบาดระลอก 3 ที่ EIC ประเมินไว้ราว 2.4 แสนล้านบาท จึงเป็นเม็ดเงินที่ไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
.
ที่สำคัญทำให้มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ Technical recession หรือเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อีกรอบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบที่ 1 ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 – ไตรมาส 2 ปี 2563 จากผลกระทบสงครามการค้าและการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 1
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ประกอบไปด้วย 1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจนานกว่าคาด รวมทั้งการระบาดรอบใหม่ หรือรอบที่ 4 อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ และ 2) ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอโดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่
.
ด้านภาคการท่องเที่ยวไทยนั้น ศูนย์ EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกจะล่าช้าออกไปอีก ซึ่งส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับประเทศไทยที่พึ่งพารายได้เป็นอย่างมาก และมีสัดส่วนมากถึง 20% ของจีดีพีไทย จึงปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2564 เหลือเพียง 1.5 ล้านคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.7 ล้านคน สาเหตุสำคัญมาจาก การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศมีความระมัดระวังในการเปิดประเทศมากขึ้น จึงปรับนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศให้มีความระมัดระวังมากขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม ดูจะมีปัจจัยบวกเพียงด้านเดียว คือภาคส่งออกไทย ศูนย์ EIC ปรับประมาณการมูลค่าส่งออกปี 2564 ขยายตัวที่ 8.6% ซึ่งขยายตัวดีกว่าที่เคยคาดไว้เดิมที่ 6.4% สาเหตุจากการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดรับกับเศรษฐกิจและการค้าโลกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้ราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทปรับสูงขึ้น