เงินอาเซียน! วิกฤตเงินริงกิตมาเลเซีย ต่างชาติหวั่นซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 1997

486
0
Share:
เงินอาเซียน! วิกฤต เงินริงกิต มาเลเซีย ต่างชาติหวั่นซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 1997

ศูนยวิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยเงินเยนเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในเอเชีย (-12.2%) และหากวัดเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN-5 แล้ว เงินริงกิตของมาเลเซีย (-7.7%) อ่อนค่าลงมากกว่าอีก 4 สกุลเงินที่เหลือ ซึ่งได้แก่ เงินบาท เงินรูเปีย เงินเปโซฟิลิปปินส์ และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ตามลำดับ โดยในส่วนของเงินริงกิตอ่อนค่าลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่ปี 2541

แม้ช่วงห่างระหว่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศ จะเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ค่าเงินอ่อน แต่คงต้องยอมรับว่า เมื่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ อ่อนแอลง (อาทิ ดุลการคลังขาดดุลเรื้อรังเป็นเวลานาน และการส่งออกหดตัวลง) “ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Gap ดอกเบี้ย” ก็อาจกลายเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันให้สกุลเงินอ่อนค่าลงเพิ่มเติมได้เช่นกัน

สำหรับในกรณีของมาเลเซียนั้น จุดที่เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม ASEAN-5 ก็คือ ปัญหาการขาดดุลการคลังเรื้อรังเป็นเวลานาน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี จุดแตกต่างระหว่างมาเลเซียกับประเทศอื่นๆ คือ ดุลการคลังของมาเลเซียขาดดุลไม่ต่ำกว่า 3.0% ต่อจีดีพี ติดต่อกันตลอด 24 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงปี 2542-2565 ขณะที่ดุลการคลังของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยมียอดขาดดุลการคลังมากกว่า 3.0% ต่อจีดีพีในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (ก่อนหน้านั้น ยอดขาดดุลการคลังไม่เกิน 3.0% ต่อจีดีพีเป็นส่วนใหญ่)

แม้ว่าสถานการณ์ในภาคการส่งออกของมาเลเซียที่หดตัวลงต่อเนื่องตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนมี.ค.-ก.ย. 2566) จะคล้ายคลึงกับสถานการณ์การส่งออกของอินโดนีเซีย แต่ก็เป็นภาพที่น่ากังวลกว่าการส่งออกของไทยและฟิลิปปินส์ซึ่งได้เริ่มทยอยกลับมาขยายตัวแล้ว นอกจากนี้ เมื่อเทียบระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของมาเลเซียในปัจจุบันที่ 3.00% กับกรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ 5.25-5.50% ก็จะพบว่า แม้ส่วนต่าง หรือ Gap ของดอกเบี้ยของมาเลเซียกับสหรัฐฯ จะติดลบน้อยกว่า Gap ดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ แต่ Gap ดอกเบี้ยของมาเลเซียกับสหรัฐฯ ที่ระดับ 2.50% นั้น เป็นช่วงห่างที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ Gap ดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ เคยห่างกันมากกว่านี้ในช่วงปี 2543 (โดยในช่วงเวลานั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ 6.50%) อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะมีความแตกต่างออกไป เพราะธนาคารกลางของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในเดือนต.ค. 2566 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 6.00% และ 6.50% ซึ่งเพิ่ม Gap ช่วงบวกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ

ดังนั้น คงต้องยอมรับว่า นอกจากความแตกต่างของสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว Gap ดอกเบี้ย ก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ค่าเงินริงกิตเผชิญแรงกดดันมากกว่าเงินรูเปียอินโดนีเซียและเงินเปโซฟิลิปปินส์ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง 2 ประเทศอยู่สูงกว่าสหรัฐฯ

สำหรับในระยะข้างหน้า แม้สกุลเงินจะอ่อนค่าในระดับที่แตกต่างกัน แต่จุดที่สำคัญมากกว่า ก็คือ ต้องจับตาผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อน เพราะยิ่งค่าเงินอ่อน ก็จะยิ่งกระตุ้นความกังวลในเรื่องเงินทุนไหลออก และดุลการค้าอ่อนแอตามมา

การไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ยิ่งสกุลเงินในประเทศอ่อนค่าลงเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ FX Gains ที่ทยอยลดน้อยลง ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยลดพอร์ตการลงทุนและนำเงินออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงไม่ปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ล้วนเผชิญแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติอยู่ในฝั่งขายสุทธิพันธบัตรไทยเป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ และเพิ่งจะมาขายสุทธิในตลาดพันธบัตรมาเลเซียและอินโดนีเซียตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 เป็นต้นมา

ความอ่อนแอของดุลการค้า เพราะค่าเงินอ่อนค่าในยามที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ ชะลอตัว น่าจะทำให้ผลดีจากการอ่อนค่าของค่าเงิน ถูกลดทอนลงไปเนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกตามระดับความเสี่ยงของสัญญาณตึงเครียดในตะวันออกกลาง

หากมองผลกระทบในประเด็นนี้ คงต้องยอมรับว่า ไทยและฟิลิปปินส์น่าจะเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายกว่า เพราะไทยและฟิลิปปินส์ล้วนเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ ซึ่งในปี 2565 ยอดขาดดุลในหมวดพลังงานของไทยมีสัดส่วนมากกว่า 10.0% ของจีดีพี ขณะที่ยอดขาดดุลในหมวดพลังงานของฟิลิปปินส์อยู่ที่ระดับสูงกว่า 5.0% ของจีดีพี แต่สำหรับมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น ทั้ง 2 ประเทศยังคงมีสถานะเป็นผู้ส่งออกพลังงานสุทธิ

จุดจับตาที่สำคัญ ก็คือ วิธีการรับมือกับความผันผวนในด้านอ่อนค่าของสกุลเงินที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงจะยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และอาจขยายวงกว้าง ซึ่งจะยิ่งหนุนราคาน้ำมันในตลาดโลก และทำให้เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมในฐานะสกุลเงินปลอดภัย นอกเหนือไปจากโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม โดยหากไม่นับเครื่องมือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทรัพยากรทางการเงินที่สำคัญในช่วงที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ก็คือ เงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศของไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทยอยลดลงมาอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2565

อย่างไรก็ดี ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยและอินโดนีเซียยังคงสูงเพียงพอสำหรับรองรับการนำเข้าเกิน 3 เดือน และการครอบคลุมหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเต็มจำนวน แต่ไม่ใช่กรณีของมาเลเซีย ซึ่งมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 96% ของเงินสำรองระหว่างประเทศไปแล้ว ดังนั้น คงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินริงกิตอย่างใกล้ชิด แม้โอกาสที่จะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตของค่าเงินภูมิภาคจะยังอยู่ในระดับต่ำ ณ เวลานี้ก็ตาม