คนไทยมนุษย์เดอะแบก แบกหนี้อ่วมครอบครัวละ 5.59 แสน สูงลิ่วในรอบ 15 ปี มิหนำซ้ำเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดไม่ได้จากพิษเศรษฐกิจทำการเงินรวน

1306
0
Share:

คนไทยมนุษย์เดอะแบก แบก หนี้ อ่วมครอบครัวละ 5.59 แสน สูงลิ่วในรอบ 15 ปี มิหนำซ้ำเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดไม่ได้จากพิษเศรษฐกิจทำการเงินรวน

คนไทยมนุษย์เดอะแบก แบกหนี้อ่วมครอบครัวละ 5.59 แสน สูงลิ่วในรอบ 15 ปี มิหนำซ้ำเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดไม่ได้จากพิษเศรษฐกิจทำการเงินรวน ชาวนายิ่งแย่จนสุดในอาเซียน จะแก้หนี้คราวนี้ได้ ต้องทำอย่างไร?

ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ระดับสูงต่อเนื่องเกิน 90% เกินระดับความยั่งยืนที่กำหนดเพียง 80% จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ระบุว่า ด้วยปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ชักหน้าไม่ถึงหลัง ยาวนานต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งในสัดส่วนนี้รวมหนี้ด้วยกัน 4 กลุ่ม เข้าในนิยามของหนี้ครัวเรือนรวม 776,000 ล้านบาท ทั้งในกลุ่มหนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา 483,000 ล้านบาท หนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์อื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ 265,000 ล้านบาท หนี้การกู้ยืมจากการเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และหนี้ที่กู้ยืมจากพิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท หลังจากการปรับนิยามหนี้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นทันทีที่ 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของจีดีพีประเทศ

โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า “หนี้เรื้อรัง” ที่แบงก์ชาติให้คำนิาม จากหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้ครัวเรื่อนที่ไม่สามารถปิดหนี้ได้สักที ถึงจะจ่ายตรง ไม่ขาดสักงวดแต่ด้วยภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน จึงเลือกที่จะจ่ายแค่งวดขั้นต่ำ ทำให้หนี้ไม่ลดลงมาเลย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ที่เป็นกลุ่มที่แบงก์ชาติต้องการเข้าไปแก้ เพื่อให้ปิดจบหนี้ให้ได้

ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังตอกย้ำเรื่องปัญหาหนี้ของคนไทยด้วยว่า ครัวเรือนที่มีหนี้ในปีนี้อยู่ที่ 99.8% และครัวเรือนที่ไม่มีหนี้มีเพียง 0.2% ขณะที่วงเงินที่ครัวเรือนมีหนี้โดยเฉลี่ยถือว่าสูงที่สุดในรอบ 15 ปี โดยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 559,408.7 บาทต่อครัวเรือน มีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเฉลี่ยที่ 16,742 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ 80.2% และหนี้นอกระบบ 19.8% ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตสงครามการค้าในปี 2562 วิกฤตโควิดในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น รวมกับปัจจัยในเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้รายจ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนต้องมีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าแนวโน้มที่ประชาชนจะยังมีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าประชาชนกว่า 60.4% มองว่าสถานการณ์ในอนาคตหนี้จะยังคงเพิ่มสูงกว่ารายได้ แต่ประชาชนบางส่วนกล้าที่จะกู้ยืมเงินมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน และรถยนต์ บางส่วนก็มีการกู้ยืมเงินเพื่อขยายธุรกิจส่วนตัว และในอนาคตหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นไปจนสุดในปี 2567 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงแต่ช่วงกลางปี เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโอกาสที่เกิดขึ้น ภายหลังที่หลายประเทศประกาศงดส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรบางชนิด ซึ่งจะทำให้โอกาสตกมาที่ประเทศไทยที่จะส่งออกได้มากขึ้น โดยรายได้ในส่วนนี้ก็จะช่วยลดความจำเป็นในการกู้หนี้ยืมสินของประชาชน

ข้อมูลจากธนาคารออมสิน ระบุว่าลูกหนี้ของแบงก์รัฐ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกรที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย มีความไม่แน่นอนสูง มีกันชนทางการเงินจำกัด และกลุ่มข้าราชการแม้มีรายได้มั่นคงแต่ค่อนข้างน้อย ซึ่งก็อาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

อีกข้อมูลที่น่าเสียใจก็คือ ชาวนาไทยช่วง 10 ปียังจนสุดในอาเซียน ทั้งยังเป็นหนี้ โดยจากข้อมูลบทวิเคราะห์ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ มีรายได้ชาวนาไทยก็ปลดหนี้ไม่ได้ ซึ่งหากมีภาระหนี้เพิ่ม การขายที่นาจึงเป็นทางออก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าในรายงานพบว่าประเทศอาเซียนที่ส่งออกข้าวไปโลกมากที่สุดในปี 2565 คือประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยส่งออกเป็นมูลค่า 3,548 ล้านเหรียญสหรัฐ 2,186 ล้านเหรียญสหรัฐ 406 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 394 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ในช่วง 10 ปี (ปี 2555-2565) พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง ต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย ซึ่งทำให้ชาวนาไทยจนที่สุดในเอเชียและกลุ่มประเทศอาเซียน

สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคาร ธ.ก.ส. ที่ระบุว่า พฤติกรรมการกู้เงินของเกษตรกรจะชำระหนี้เงินกู้เดิมเมื่อขายผลผลิตตามฤดูกาล จากนั้นจะขอกู้ใหม่เพื่อปลูกพืชในฤดูถัดไปหมุนเวียนทุกปี หากมีเหตุฉุกเฉิน หรือความจำเป็น จึงขาดการชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรจ่ายชำระเฉพาะดอกเบี้ยและไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นเพื่อปิดจบหนี้ได้ ขณะนี้มีกลุ่มเปราะบางมีปัญหาหนี้เรื้อรัง 4.3 ล้านราย จำนวน 10 ล้านสัญญาเงินกู้ แบ่งเป็นเกษตรกร 6 ล้านสัญญา จำนวน 3 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ กล่าวว่าแบงก์ชาติได้เตรียมปรับมาตรการแก้หนี้ โดยเน้นการแก้หนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ อย่างตรงจุดและยั่งยืน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหนี้สินครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปสู่ปัญหาสังคม

ด้วยการออกเกณฑ์สำหรับแบงก์พาณิชย์ จะเป็นกลไกหลักในการช่วยลูกหนี้ โดยจะกระจายไปทั้งกลุ่มพนักงานใหม่เพิ่งจบการศึกษา ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ลูกหนี้หมุนเวียนทุกกลุ่ม จ่ายชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ทั้งกลุ่มหนี้เสียให้สามารถแก้ไขได้, กลุ่มหนี้เรื้อรังให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้, หนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และหนี้นอกระบบให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้

ซึ่งมาตรการนี้มีกด้วยกัน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และ 2.การดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) โดยกรอบหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมนั้น เจ้าหนี้ต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อจะขายหรือโอนหนี้ออกไป

ในส่วนของ “หนี้เรื้อรัง” ที่เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงไม่แก้กลุ่มหนี้เสียนั้น เจ้าหนี้หรือแบงก์พาณิชย์เองต้องดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt) โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) ที่มีรายได้น้อย คือเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท/เดือน หรือเป็นลูกหนี้ของ Non-banks อื่นๆ ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน หากเป็นหนี้มานาน 5 ปี และมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการปรับสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไข Persistent Debt คือ จะต้องปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี ลดลงจากสัญญาเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ ขณะที่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ (opt-in) ต้องปิดวงเงิน revolving ดังกล่าวเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม และจะมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้

ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็ยกตัวอย่างเช่น คุณ A เป็นลูกหนี้กู้เงิน revolving จำนวน 15,000 บาท และจ่ายชำระเพียง 3% ของยอดคงค้าง จะต้องใช้เวลาปิดหนี้ 18 ปี และเสียดอกเบี้ยรวม 29,000 บาท แต่หากคุณ A ลูกหนี้เป็นหนี้มาแล้ว 5 ปี และจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น เมื่อคุณ A เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเลือกจ่ายหนี้เดือนละ 280 บาท ลูกหนี้จะปิดจบหนี้ได้ใน 3.5 ปี และเสียดอกเบี้ยทั้งหมด 17,500 บาท หรือประหยัดดอกเบี้ยได้ 11,500 บาท เป็นต้น

ส่วนกรณีเป็นลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนที่มีสัญญาณว่าจะเป็นหนี้เรื้อรัง (General Persistent Debt) ยกตัวอย่าง คุณ B เป็นหนี้มาแล้ว 3 ปี และจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น เจ้าหนี้จะต้องได้รับข้อความแจ้งเตือนคุณ B ว่ามีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดจบไม่ได้ และต้องให้คำแนะนำคุณ B ให้จ่ายชำระหนี้รายเดือนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

ซึ่งแบงก์ชาติจะเผยแพร่ Consultation Paper การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในช่วงไตรมาส 3/2566 และจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่วนมาตรการปรับสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไข Persistent Debt นั้น จะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป

อีกหนึ่งมาตรการที่แบงก์ชาติต้องการออกมาเพื่อควบคู่กันนั่นก็คือ การควบคุมการชำระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 60-70% ที่จะเริ่มใช้ 1 ม.ค. 2568 นี้ ก็คือมาตรการการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR) ธปท. มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้เกณฑ์ DSR เข้าไปอยู่ในมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน ด้วยลักษณะครัวเรือนไทยมีปัญหาหนี้เกินตัว โดยรายได้ของครัวเรือนเกินกว่าครึ่งต้องนำไปจ่ายหนี้ และกว่า 50% เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนี้เรื้อรัง และอาจเป็นหนี้เสีย จึงต้องการให้เจ้าหนี้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยคำนึงถึงรายได้และภาระหนี้ในปัจจุบัน และเมื่อให้สินเชื่อไปแล้ว ลูกหนี้ยังต้องมีเงินเหลือพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย

โดยเกณฑ์ DSR จะแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก จะเริ่มที่สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลที่ปล่อยโดย SFIs สินเชื่อสวัสดิการ MOU และวงเงินเบิกเกินบัญชี เพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนเฟสสอง จะเพิ่มสินเชื่ออื่นๆ ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อ Digital p-loan และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

ตัวอย่างเช่น กรณีรายได้ลูกหนี้ น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 60% และกรณีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 70% ซึ่งที่มาของการกำหนด DSR ไม่เกิน 60% และไม่เกิน 70% จากข้อมูลที่แบงก์ชาติขอให้แบงก์และ Non-banks ส่งข้อมูลรายสัญญามาให้ พบว่ากลุ่มที่มี DSR สูงเกินระดับที่กำหนดไว้จะมีการเร่งตัวของ NPL สูงขึ้น ซึ่งหากเจ้าหนี้ประเมินว่าลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แม้ DSR จะสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด เจ้าหนี้สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ แต่ DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 90% และสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องมียอดไม่เกิน 15% ของสินเชื่อปล่อยใหม่ การบังคับใช้มาตรการ DSR จะต้องใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งเพียงพอ ดังนั้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการ DSR ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 เพื่อให้ประชาชนและผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับตัว

ปัญหาหนี้ถือเป็นปัญหาที่มีมานาน เรียกได้ว่าอยู่คู่กับสังคมไทยเลยก็ว่าได้ เพียงแต่ขณะนี้หนี้สินที่เพิ่มพูนมากขึ้น ยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยง เชื่อว่าหลายคนยังคงรอความหวังรัฐบาลใหม่ ให้เข้ามาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนี้ได้ และก็หวังว่าเมื่อได้เห็นหน้าค่าตา ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่แล้ว พวกเขาจะเร่งเครื่องผลักดันนโยบายแก้ปากท้องได้ในทันทีอย่างที่รับปากกันไว้ในตอนหาเสียงด้วย…

BTimes