เร่งแก้ใน 5 ปี! สถาบันการเงินขานรับ ธปท.แก้หนี้ครัวเรือน เร่งบังคับใช้แก้หนี้เรื้อรัง

228
0
Share:
เร่งแก้ใน 5 ปี! สถาบันการเงิน ขานรับ ธปท. แก้ หนี้ครัวเรือน เร่งบังคับใช้แก้หนี้เรื้อรัง

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าการดึงสถาบันการเงินเข้ามาร่วมแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90.6 ของจีดีพี กระจายไปทั้งกลุ่มพนักงานใหม่เพิ่งจบการศึกษา ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ลูกหนี้หมุนเวียนทุกกลุ่ม จ่ายชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ต้องปิดบัญชีให้ได้ภายใน 5 ปี โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 25 ลดเหลือร้อยละ 15 หลังจาก ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อดูแล (1) หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้ (2) หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ (3) หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และ (4) หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ โดยเกณฑ์ responsible lending จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ได้บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของสมาคมธนาคารไทย ตั้งแต่ปี 2565 และได้ให้ความร่วมมือกับ ธปท. ในการผลักดันผ่านหลายมาตรการ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.88 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้เคยสูงสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 6.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท ธนาคารพร้อมดำเนินการตามมาตรการ ธปท. ดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง แบบตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า พฤติกรรมการกู้เงินของเกษตรกร จะชำระหนี้เงินกู้เดิมเมื่อขายผลผลิตตามฤดูกาล จากนั้นจะขอกู้ใหม่เพื่อปลูกพืชในฤดูถัดไปหมุนเวียนทุกปี หากมีเหตุฉุกเฉิน หรือความจำเป็น จึงขาดการชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรจ่ายชำระเฉพาะดอกเบี้ยและไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นเพื่อปิดจบหนี้ได้ ขณะนี้มีกลุ่มเปราะบางมีปัญหาหนี้เรื้อรัง 4.3 ล้านราย จำนวน 10 ล้านสัญญาเงินกู้ แบ่งเป็นเกษตรกร 6 ล้านสัญญา จำนวน 3 ล้านราย บอร์ด ธ.ก.ส. จึงเห็นชอบ การแก้ปัญหากลุ่มเกษตรกร หนี้เรื้อรังและสูงอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวน 1.2 ล้านราย เฟสแรก ธ.ก.ส. ได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อแทนคุณ” เตรียมวงเงิน20,000 ล้านบาท เพื่อลูกหลานกู้เงินมารีไฟแนนซ์ชำระคืนแทนพ่อแม่ ประมาณ 4,200 ราย เริ่มขอกู้ดอกเบี้ยต่ำในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อตัดเงินต้น การปิดหนี้ให้ลูกค้าเกษตรกร และพร้อมดูแลลูกหนี้กลุ่มเรื้องรังตามนโยบายธปท.อย่างใกล้ชิ

นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของแบงก์รัฐ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกรที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย มีความไม่แน่นอนสูง มีกันชนทางการเงินจำกัด และกลุ่มข้าราชการแม้มีรายได้มั่นคงแต่ค่อนข้างน้อย อาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ดังนั้นการจัดทำมาตรการของ ธปท. และปิดหนี้ให้ได้ในช่วง 5 ปีผ่านการกำหนดแผนชำระหนี้ จะทำให้ลูกหนี้ลดภาระได้อย่างมาก เนื่องจากได้ชำระดอกเบี้ยไปและได้ทุนคืนแล้วในช่วง 4-5 ปีแรก การลดภาระดอกเบี้ย เพื่อให้กลุ่มเปราะบางฟื้นตัวได้ ธนาคารออมสิน มุ่งสร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรมที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลานี้ และต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน

นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Non-bank เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบางกว่าลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เช่น พนักงานบริษัทหรือพนักงานในโรงงานที่มีเงินเดือนประจำค่อนข้างต่ำ หรือพ่อค้าแม่ค้าขายของมีหลักฐานทางการเงินจำกัด จึงต้องใช้ข้อมูลทางเลือกพิจารณาปล่อยกู้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกการผ่อนชำระขั้นต่ำที่จำกัด ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้เรื้อรังค่อนข้างสูง ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทสมาชิก พร้อมร่วมมือกับ ธปท. เร่งประชาสัมพันธ์ ดึงลูกค้าเข้าร่วมโครงการพร้อมนำเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจสามารถปิดจบหนี้ เริ่มจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน มาร่วมเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีควบคู่กันไป