เงินเฟ้อไทยทั้งปี 65 พุ่งขึ้น 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี ขณะเดือน ธ.ค.65 เพิ่ม 5.89%

265
0
Share:
เงินเฟ้อ ไทย ทั้งปี 65 พุ่งขึ้น 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี ขณะเดือน ธ.ค.65 เพิ่ม 5.89%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไปว่าในเดือน ธ.ค. 2565 เท่ากับ 107.86 เทียบกับ พ.ย. 2565 ลดลง 0.06% เทียบกับเดือนธ.ค.2564 เพิ่มขึ้น 5.89% ส่วนเงินเฟ้อรวมทั้งปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.) อยู่ที่ 6.08% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 5.5-6.5% ค่ากลาง 6.0% โดยเป็นตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 24 ปี นับจากปี 2541 ที่เคยขึ้นไปสูงถึง 8.1%

ทั้งนี้เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.87% ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 14.62% ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ ขณะที่สินค้าทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก รวมถึงยาสีฟัน แชมพู ค่าแต่งผม สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็มีสินค้าที่ราคาลดลง เช่น โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 8.87% โดยอาหารสำเร็จรูป เพิ่ม 9.66% เช่น ข้าวราดแกง อาหารเช้า ก๋วยเตี๋ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเนื้อสุกร เนื้อไก่ ไข่ไก่ และข้าวสาร ส่วนมะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริกสด ผักกาดขาว มะขามเปียก มะพร้าวแห้ง ขูด กล้วยน้ำว้า และทุเรียนราคาลดลง

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ที่เพิ่มขึ้น 6.08% นั้น มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยทั้งปีสูงขึ้นถึง 23.93% และยังมีปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้การผลิตพลังงานตึงตัว ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม และยังมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ดอกเบี้ย เงินบาทอ่อนค่า ที่กระทบต่อต้นทุนแฝงในการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และยังมีโรคระบาดในสุกร ปัญหาอุทกภัย ที่กระทบต่อการผลิตของเนื้อสุกรและผักสด ทั้งนี้ หากแยกเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 6.08% พบว่า สัดส่วน 1% มาจากการเพิ่มขึ้นของเนื้อสุกร ไก่ และไข่ไก่ 1% มาจากอาหารสำเร็จรูป 1% มาจากค่ากระแสไฟฟ้า 2% มาจากค่าน้ำมัน และ 1% สุดท้าย เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าอื่นๆ

ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกเพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับ พ.ย. 2565 และเพิ่มขึ้น 3.23% เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 2564 และเฉลี่ย 12 เดือน เพิ่ม 2.51%

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.0-3.0% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ซึ่งน่าจะต่ำสุดในรอบ 10 ปี เพราะปี 2556 เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 2.18% ซึ่งเป็นฐานค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล การกำกับดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ โดยคาดว่าไตรมาสแรกจะยังเพิ่มขึ้น แต่จะชะลอตัวจากช่วงปลายปี 2565 และค่อย ๆ ลดลงตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 เป็นต้นไป เพราะสินค้าส่วนใหญ่ทรงตัวและราคาเริ่มปรับลดลง ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เช่น การขึ้นค่าไฟฟ้า การปรับค่าจ้างทั้งระบบ เงินบาทที่ยังผันผวน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่จะกระทบต่อสินค้าและบริการในบางกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เช่น ความผันผวนสินค้าโภคภัณฑ์จากความเสี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศแปรปรวน การระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดในสัตว์ อย่างใกล้ชิด