เซย์โนพุ่ง! ธนาคารทั้งเมินให้กู้ ทั้งรับเรื่องกู้แต่ไม่ผ่านซื้อบ้านพุ่งสูงถึง 70%

276
0
Share:
เซย์โนพุ่ง! ธนาคารทั้งเมินให้กู้ ทั้งรับเรื่อง กู้ แต่ไม่ผ่าน ซื้อบ้าน พุ่งสูงถึง 70%

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินในไทย เปิดเผยว่า อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน หรือธนาคารในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 50% จากที่ก่อนหน้าจะอยู่ที่ 30-40% ในกรณีที่อยู่อาศัยหรือบ้านราคาไม่เกินหลังละ 3 ล้านบาท สถาบันการเงินจะปฏิเสธสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 60-70% แม้แต่บ้านระดับราคาสูงขึ้นสำหรับลูกค้าที่มีฐานะกลางขึ้นระดับบนเบื้องต้น เช่น หลังละ 10 ล้านบาทขึ้นไป การปฏิเสธสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 10%

สาเหตุสำคัญ 2 อย่าง ที่ทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยกู้ ได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง ยกตัวอย่าง เจ้าของบ้านเดิมถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% มีค่าผ่อนบ้านอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน แต่ในปัจจุบัน ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3% ทำให้ค่าผ่อนเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ของค่างวดเดิมผ่านมา

สำหรับกลุ่มประชาชนที่เปราะบางกับค่าใช้จ่ายผ่อนบ้าน จะอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ย หรือต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ ประเภทราคาบ้านที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มมีแนวโน้มได้รับการปฏิเสธสินเชื่อมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ สาเหตุจากเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีรายได้ไม่ประจำและไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้ได้รับการปฏิเสธสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ประจำ

ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยกลุ่มตลาดกลางถึงล่างมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท กลายเป็นตลาดที่มีความต้องการสูงมากกว่าราคาบ้านในกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสัดส่วนสูงถึง 75%

ดังนั้น สภาวะหนี้ครัวเรือน และแนวโน้มหนี้สินเชื่อบ้านที่จะเข้าข่ายบัญชีค้างจ่ายหนี้ตั้งแต่ 31 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่มลูกหนี้ประเภท SM นี้ จะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม และในกลุ่มกลางลงล่าง เนื่องจากมีฐานตลาดกว้างที่สุด ผลกระทบจะส่งถึงบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการด้วย ในแง่แม้จะมีการทำยอดขายได้ แต่ถ้าธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ และเกิดการปฏิเสธสินเชื่อมากกว่าเดิม ส่งผลกระทบแผนรายได้ของผู้ประกอบการไปยังสภาพคล่องในการดำเนินกิจการได้ ที่สำคัญ เป็นการตอกย้ำปัญหาปริมาณที่อยู่อาศัยล้นเกินในตลาดอีกด้วย