เตรียมลดเงินสมทบผู้ประกันตนนาน 3 เดือน เหตุสงครามรัสเซียและยูเครนกระทบชิ่งไทย

378
0
Share:

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตน จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ว่า จะลดเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน (งวดค่าจ้าง พ.ค.-ก.ค.) โดยคาดว่าจะใช้วงเงิน 33,857 ล้านบาท

ตัวอย่างเช่น  ลูกจ้างเงินเดือน 15,000 บาท เดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9  ทำให้จากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะเหลือเพียง 91 บาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน

ด้านผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 โดย ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท เหลือ 42 บาท ทางเลือกที่2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท เหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท เหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน

สำหรับนายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 เช่นเดียวกับลูกจ้าง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท

มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าเอาไว้ก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

ส่วนความคืบหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการมาตลอด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระดับต่ำ หรือกลาง หากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเป็นรองแค่บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย และการขึ้นค่าแรงในแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) ที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ตามเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของไอแอลโอ (ILO) ทั้งนี้ ในห้วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และกรุงเทพฯ จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 ในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป