เทสวนทาง! ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดร่วงแรงกว่า 230 จุด น้ำมันดิบโลกปิดลงเหลือกว่า 68 ดอลล์

160
0
Share:
เทสวนทาง! ดัชนี หุ้น ดาวโจนส์ ปิดร่วงแรงกว่า 230 จุด น้ำมันดิบโลกปิดลงเหลือกว่า 68 ดอลล์

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2023 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 33,979 จุด -232 จุด หรือ -0.68% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 4,372 จุด +3 จุด หรือ +0.08% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 13,626 จุด +53 จุด หรือ +0.39% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดสูงสุดในรอบ 1 ปี 1 เดือนกว่า หรือตั้งแต่เมษายน 2022 และปิดเหนือระดับ 4,300 จุดเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน

สาเหตุจากนักลงทุนเกิดภาวะตกใจกับการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมวันสุดท้ายเมื่อคืนผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลเป็นการหยุดสถิติปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวต่อเนื่องถึง 11 ครั้งติดกัน หรือในรอบ 1 ปี 3 เดือน

นอกจากนี้ ประธานเฟด นายเจอร์โรม พาวเวลล์ กล่าวหลังการแถลงตรึงดอกเบี้ยว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะพูดถึงภาวะเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกามีสัญญาณชัดเจนว่าอ่อนตัวลง ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังขยายตัวอย่างดีกว่าที่คาด และเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ถึงเท่าตัว

นักวิเคราะห์และนักลงทุนในสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกถึง 0.5% ในช่วงครึ่งปีหลังในการประชุมราว 2 ครั้งๆละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 5.00-5.25% มาเป็น 5.50-5.75% ทำสถิติอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตเดือนพฤษภาคมที่ประกาศในคืนผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงตามคาดการณ์

ขณะที่ตัวชี้วัดแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ที่เรียกว่า ซีเอ็มอีเฟดวอทช์ ทูล พบว่า มีโอกาส 70% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ จากเดิมที่ให้น้ำหนัก 60%

ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 68.27 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.15 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.7%

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 73.20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.09 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.5%

ในปี 2022 ผ่านไปราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สาเหตุจากถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด จะตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 5.00-5.25% ตามที่ตลาดคาดไว้ แต่ประธานเฟดกลับแถลงอย่างชัดเจนว่า เฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.5% ในช่วงที่เหลือของครึ่งปีหลัง ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการอบใหม่ ที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

นอกจากนี้ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบรายสัปดาห์ในสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านบาร์เรล ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลงราว 500,000 บาร์เรล ขณะที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ความต้องการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลกปีนี้ขึ้นอีกวันละ 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่วันละ 2.4 ล้านบาร์เรล ทำให้ปริมาณการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลกในปีนี้ขึ้นเป็น 102.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้านธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ในปีนี้ลงถึง 9 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 81 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 1,945.19 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +1.14 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.1% ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 1,968.90 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +11.60 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.5%

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนเมษายนผ่านไป ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 2,048.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากวิกฤตธนาคารเอสวีบี และเอสบี ปิดกิจการและถูกควบคุมโดยทางการสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในปี 2022 ผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

สาเหตุจากแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมคืนผ่านมาตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 1 เดือน หรือในการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวถึง 11 ครั้งติดกัน แต่กลับส่งสัญญาณขัดเจนว่า ยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอีกในช่วงเหลือของปีนี้ ส่งผลให้มีการประเมินว่าดอกเบี้ยดังกล่าวอาจปรับขึ้นถึง 0.5% ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งสัก 2 ครั้งๆ ละ 0.25%

นอกจากนี้ ประธานเฟด กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยืดหยุ่นอย่างแข็งแกร่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีอัตราการเติบโตสูงเกินคาด รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูงกว้าเป้าหมายของเฟดถึงกว่า 1 เท่า ปัจจัยเหล่านี้ ยังคงทำให้เฟดต้องจัดการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาต่อไป

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงขึ้นต่อเนื่องกลายเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นในการลงทุนทองคำ

ขณะนี้ ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70% มากกว่าเมื่อวานนี้ที่ระดับ 60%