เปิดร่างกฎกระทรวงคลังปลดล็อกผลิตสุรา-คราฟท์เบียร์ ลดทุนจดทะเบียนลง หมักดื่มเองในบ้าน

282
0
Share:
เปิดร่างกฎกระทรวงคลัง ปลดล็อก ผลิตสุรา - คราฟท์เบียร์ ลดทุนจดทะเบียนลง หมักดื่มเองในบ้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ…. โดยจะมีการปรับปรุงในกฎหมายลำดับรอง ที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการอนุญาตผลิตสุราทั้งหมด ซึ่งจะยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ฉบับใหม่ เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความเหมาะสม รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต รวมถึงใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากก่อนหน้านี้มีกฎหมายภาษีสรรพสามิตรคุมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่เห็นว่ากฎหมายที่ประกาศใช้ในปัจจุบันมีความตึงเกินไป อยากให้มีการผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้น กฎหมายฉบับใหม่นี้สามารถทำให้หลายส่วนมีความสบายใจ ไม่ถึงขนาดสุดโต่งเกินไป และมีการดูแลสุขภาพของประชาชน ดูแลเรื่องอุบัติเหตุที่มาจากสุราได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในการผลิตสุรา จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียต่างๆ

“ดังนั้น คงไม่เป็นการเฉพาะเอื้อนายทุนอย่างแน่นอน เพราะการปรับร่างกฎกระทรวงครั้งนี้ ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เกี่ยวข้องกับประชาชน ที่จะผลิตสุราได้ง่ายขึ้น แต่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเข้ามาพิจารณาด้วย” นายอนุชา กล่าว

ด้านนายนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิตในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาตดังกล่าวนั้น เราแบ่งอนุญาตเป็น 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ และ ใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชุมชน ทั้งนี้ กรณีสุราแช่ เดิมคุณสมบัติในการผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือ มีกำลังผลิต 1 แสน – 1 ล้านลิตร ต่อปี ซึ่งจะมีการยกเลิกทั้งหมด หมายความว่า เบียร์โรงเล็กไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ ในขณะเดียวกัน ในตัวสินค้า หรือ เครื่องมือการผลิต จะต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ส่วนในกรณีที่ไม่ใช่การค้า ทำเอง บริโภคเอง สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ 1.ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตร 2.กำลังการผลิตต้องไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี 3.ต้องเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะ ไม่น้อยกว่า 20 ปี บริบูรณ์ 4.เบียร์ สุราแช่อื่นๆ เวลาผลิตแล้วต้องนำให้กรมสรรพสามิตรตรวจสอบคุณภาพ เพื่อไม่ให้มีเรื่องสารปนเปื้อนที่เป็นสารต้องห้ามตามหลักสากล แต่จะไม่สามารถนำไปขาย หรือไปแจกเพื่อนบ้านได้ เพราะถ้านำไปแลกเปลี่ยนก็ถือว่าเป็นการค้าประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ ขั้นตอนการขออนุญาต สามารถไปขอที่สรรพสามิตรพื้นที่ และนำใบอนุญาตมากรอกว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

ขณะที่สุรากลั่นชุมชน ที่กำหนดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า และกำลังคน 7 คน ล่าสุดได้ขยายให้สำหรับโรงขนาดกลาง มีกำลังการผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 50 คน จะเป็นตัวช่วยให้สุรากลั่นชุมชนขยายตัวได้ เนื่องจากเมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง จะส่งผลให้คุณภาพของสุราดีขึ้น ต่อไปจะเปิดให้มีสุรากลั่นชุมชน S M L ได้อย่างเต็มรูปแบบ