เปิด 5 ทำเลที่ดินยิ่งกว่าทอง โซนนครปฐมติดท็อปราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมากสุดอันดับ 1

597
0
Share:
เปิด 5 ทำเลที่ดิน ยิ่งกว่าทอง โซน นครปฐม ติดท็อป ราคาที่ดิน เพิ่มขึ้นมากสุดอันดับ 1

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ อัตราการขยายตัวของราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีผ่านมา มีดังนี้

อันดับ 1 ได้แก่ที่ดินในโซนนครปฐมมีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึง 62.5% อันดับ 2 คือที่ดินในโซนบางพลี–บางบ่อ–บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคา 22.3% อันดับ 3 คือที่ดินในโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีอัตราการเปลี่ยนราคาที่ 17.9% อันดับ 4 เป็นที่ดินในโซนตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีอัตราการเปลี่ยนราคาที่ 14.9% และอันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนกรุงเทพชั้นใน มีอัตราการเปลี่ยนราคาที่ 6.8%

ขณะที่ รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ–ปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 379.9 จุด เพิ่มขึ้น 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ พบว่าเพิ่มขึ้น 0.9%

อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่ราคาที่ดินเปล่าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปในลักษณะชะลอตัว เมื่อเทียบกับการปรับเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ย 5 ปี หรือในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด–19 ระหว่างปี 2558–2562 ที่มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8% ต่อไตรมาส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนแสดงให้เห็นว่าอัตราเร่งของดัชนีราคาที่ดินในช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤตดังกล่าวสูงกว่าปัจจุบันถึงประมาณ 5 เท่า

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ผลจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาที่ระดับ 2.50% ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 5 ครั้งตั้งแต่ต้นปี 2566

นอกจากนี้ ยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. และภาวะหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 90% ของจีดีพีไทย ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อกำลังซื้อทั้งสิ้น ทำให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีการชะลอแผนการเปิดขายโครงการใหม่ จึงอาจต้องชะลอการซื้อที่ดินเปล่าเพื่อการพัฒนาลงไปด้วย

สอดคล้องกับรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปี 2566 จึงอาจทำให้ความต้องการในการซื้อที่ดินสะสมใน Land Bank ของผู้ประกอบการลดลง เนื่องจากการซื้อที่ดินสะสมไว้จะมีภาระที่ต้องจ่ายภาษีที่ดินฯ ทำให้เกิดต้นทุนจากการถือครองที่ดิน ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป