เศรษฐกิจอินเดียโตแรงเฉลี่ยปีละ 6% ใน 10 ปีหน้า อีก 3 ปีจะแซงขึ้นใหญ่อันดับ 3 โลก

204
0
Share:
เศรษฐกิจอินเดีย โตแรงเฉลี่ยปีละ 6% ใน 10 ปีหน้า อีก 3 ปีจะแซงขึ้นใหญ่อันดับ 3 โลก

ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เศรษฐกิจอินเดียซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเอเชีย และใหญ่อันดับ 5 ของโลก จะมีแนวโน้มขยายตัวสูงถึงปีละกว่า 6% ใน 10 ปีข้างหน้าจากนี้ไป สาเหตุที่จะขยายตัวได้สูงในระยะยาวอย่างต่อเนื่องมาจากปัจจัยหลักและสำคัญ คือ คลื่นการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ย้ายมาสู่เอเชียใต้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ดึงดูดได้มากที่สุด คือ อินเดีย ในขณะที่ รัฐบาลอินเดียกำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณใหม่สูงถึง 7%

สำหรับปัจจัยบวกอื่นๆ ได้แก่ โครงสร้างประชากรอินเดียที่อยู่ในวัยแรงงานหนุ่มสาวมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยไป จำนวนประชากรอินเดียที่มีมากที่สุดในโลกกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งแซงประชากรจีนแผ่นดินใหญ่ในปีผ่านไป นโยบายของรัฐบาลอินเดียในการวางโครงสร้างการใช้จ่ายของประชาชนให้อยู่ในระดับสูง และความต้องการบริโภคของประชาชนในประเทศที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง

นายฮิเดโอะ คูมาโนะ นักเศรษฐศาสตร์อำนวยการ สถาบันวิจัยชีวิตไดอิชิ ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า หากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันมาก เช่น ภาคอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก ประชากรเข้าสู่วัยชราชัดเจนและจะมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และภาวะการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตสินค้า ไม่รีบปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต จะทำให้อินเดียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลกในปัจจุบันจะมีขนาดเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นแซงเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2026 และแซงเศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2027 มายืนอยู่ในอันดับ 3 ของโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคมผ่านมา บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 4.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 155.8 ล้านล้านบาท หลังจากตลาดปิดการซื้อขายเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2024 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 4.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 154.4 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ตลาดหุ้นอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกแซงตลาดหุ้นฮ่องกง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2023 มูลค่าตลาดหุ้นอินเดียใหญ่ขึ้นแตะระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เป็นครั้งแรก หรือกว่า 144 ล้านล้านบาท