เศรษฐกิจไทยปีเสืออาจร่วง 3% ถ้าพันธ์ุโอไมครอนทำคนไทยติดเชื้อกว่า 32,000 คนต่อวัน

391
0
Share:
เศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ความเป็นไปได้ของการระบาดสายพันธุ์โอไมครอนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 3 กรณี คือ

1.ในกรณีฐาน (Base Case) อาการที่เกิดจากเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง แม้ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ดี ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงสุดเกือบ 11,000 คนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ระดับ 50 คน จะทำให้ในครึ่งปีแรก ไทยจะมีผู้ป่วยควิด-19 รวมทั้งสิ้น 880,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 5,000 คนในช่วงเดียวกัน

2.กรณีเลวร้าย (Worse Case) อาการที่เกิดจากเชื้อโอไมครอนมีความรุนแรงใกล้เคียงสายพันธุ์เดลต้า และระบาดง่าย แต่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันอาการรุนแรงลดการติดเชื้อได้ และสายพันธุ์โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด อัตราการแพร่เชื้อที่สูงที่ 5.2 จะทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง

แม้วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ (ประมาณ 85%) แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจจะมีอาการรุนแรง (25% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลต้า)

อัตราการเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในกรณีฐาน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่เกือบ 16,000 คน และมีผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 100 คน ในกรณีนี้คาดว่าในครึ่งปีแรกไทยจะมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 1,400,000 ราย

3.กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) อาการที่เกิดจากเชื้อโอมิครอนรุนแรงใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลต้า ระบาดง่ายกว่า และวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 32,000 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตกลับมาอยู่ในระดับ 300 รายต่อวัน

คาดการณ์ว่าในครึ่งปีแรก ไทยจะมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,500,000 คนและผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 30,000 ราย ทำให้ทางการต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2565 ดังนั้น โดยมาตรการที่มีความเข้มงวดและความกังวลต่อการระบาดทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป

ศูนย์วิจัยกรุงศรี เปิดเผยต่อไปว่า ในกรณีฐาน ภาคท่องเที่ยวในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนการระบาดของโอไมครอนถึง 7.1% ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปี 2565 จะลดลงเพียง 0.9%

ส่วนในกรณีเลวร้ายและเลวร้ายที่สุด พบว่าภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง 21.7% และ 36.8% ตามลำดับ ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศจะลดลงเพียง 2.0% และ 3.2% ตามลำดับ

ทั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปี 2565 ออกไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2566