เอกชนวอนรัฐบาลเลื่อนขึ้นค่าแรงวันละ 600 ไปเป็นปีหน้า ค้านขึ้นเท่ากันทั่วไทย

212
0
Share:
เอกชน วอนรัฐบาลเลื่อนขึ้น ค่าแรง วันละ 600 ไปเป็นปีหน้า ค้านขึ้นเท่ากันทั่วไทย

นายธนิต โสรัตน์ ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นวันละ 600 บาทภายใน 4 ปีนั้น เท่ากับต้องปรับขึ้นรวม 246-262 บาท หรือปรับขึ้นปีละ 61.5-65.5 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รัฐบาลยังไม่ควรพิจารณาปรับขึ้นในปี 2566

สำหรับการปรับค่าแรงขั้นต่ำรายวันจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายส่วน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งทุกจังหวัดมีคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่พิจารณาการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ค่าจ้างแต่ละจังหวัดปรับขึ้นแตกต่างกัน แต่ยกเว้นปี 2555-2556 ที่รัฐบาลเพื่อไทยใช้นโยบายค่าแรงอัตราเดียวทั่วประเทศที่ 300 บาท

ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยต่อไปว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ที่ขยายตัวเพียง 1.8% สภาพัฒน์ปรับลดเป้าหมายจีดีพีทั้งปีลงมาเหลือ 2.5-3.0% และการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ 5.5% ทั้งหมดนี้มีผลต่อผลดำเนินของเอกชน รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรทยอยปรับขึ้นในปี 2567-2570

ที่สำคัญ ควรประกาศว่าแต่ละปีจะปรับขึ้นอัตราเท่าใดเพื่อให้ไปจบที่วันละ 600 บาท ในระยะ 4 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนได้เตรียมตัว และให้สหภาพแรงงานรับรู้ล่วงหน้าเพื่อลดการชุมนุมเรียกร้องค่าแรง นอกจากนี้ ยังห็นว่าไม่ควรใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศอีก สาเหตุจากแรงจูงใจการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลท่าเรือจะลดลง

ทั้งนี้ การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ 600 บาท จะส่งผลให้การลงทุนใหม่เลือกลงทุนในพื้นที่ภาคกลางและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง โดยหลักสากลจะกำหนดค่าแรงในละพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่น เวียดนามกำหนดค่าจ้างแบ่งเป็น 23 พื้นที่ และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ เช่น สิงคโปร์