เอกชนไทยมองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ฉุดส่งออกไทยเสียหายถึงกว่า 165,000 ล้านบาท

437
0
Share:
เอกชน ไทยมองวิกฤต รัสเซีย ยูเครน ฉุดส่งออกไทย เศรษฐกิจไทย เสียหายถึงกว่า 165,000 ล้านบาท

วันที่ 1 มีนาคม 2565 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น สำหรับวัตถุดิบที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้น หากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายหรือขยายวงกว้างไปมากกว่านี้และสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ภายใน 3 เดือน การส่งออกของไทย ปี 2565 คาดว่าจะยังเติบโตได้ที่ 5% โดยคาดว่าสถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ 5% หรือมีมูลค่าเฉลี่ยคาดว่าอยู่ที่ 6.7-6.8 หมื่อล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า

แต่หากสถานกาณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4,00-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 132,000-165,000 ล้านบาท และกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และคาดจะมีมูลค่าเฉลี่ย 66,000 – 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ไม่เติบโต

ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้น สรท.ประเมินว่าจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 100-105 ดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าจะอยู่ในระดับราคาดังกล่าวจนถึงไตรมาส 2 จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าระวางเรือที่แนวโน้มสูงขึ้นและหากจะทำให้ค่าระวางเรืออ่อนค่าปรับตัวลดลงคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาหรือปรับตัวในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 65 หรือประมาณสิ้นปี

ส่วนข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีดังนี้
1) เพื่อเตรียมรับมือต่อความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกที่อาจเกิดจากกรณีพิพาท สรท. ขอให้รักษาเสถรียภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

1.1) กรณีการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการส่งออกควรต้องขอให้ชำระเงินก่อนส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงระดับหนึ่ง

2) เพื่อรับมือต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุน สรท. ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

3) เร่งมองหาช่องทางเปิดตลาดเพิ่มเติมทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท หากการสู้รบขยายเป็นวงกล้างและมีความยืดเยื้อมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป

4) ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง