แกร็บเผยส้มตำปูปลาร้า-กาแฟครองแชมป์เมนูสุดฮิตแห่งปีด้วยยอดสั่งกว่า 4.4 ล้านออเดอร์

182
0
Share:
แกร็บ เผย ส้มตำปูปลาร้า -กาแฟครองแชมป์เมนูสุดฮิตแห่งปีด้วยยอดสั่งกว่า 4.4 ล้านออเดอร์

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า “ปี 2566 ถือเป็นปีที่เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรีอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเราเริ่มเห็นผู้บริโภคมีการผสมผสานการใช้ชีวิตนอกบ้านเข้ากับพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พบว่ายอดการสั่งซื้อของทั้งสองบริการได้แก่ กินที่ร้าน (Dine-in) แลเรับเองที่ร้าน (Self Pick-up) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ เติบโตขึ้นกว่า 23 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของซูเปอร์แอปที่มีการพัฒนาและเป็นมากกว่าผู้ให้บริการจัดส่งอาหารหรือสินค้าเท่านั้น”

แกร็บได้จัดทำรายงาน “เทรนด์การสั่งอาหารและของใช้ในบ้าน ปี 2566” เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรี ทั้งการสั่งอาหารและการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน พร้อมสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแกร็บใน 6 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยพบเทรนด์ที่สำคัญในประเทศไทย คือ

พฤติกรรมการสั่งอาหารผ่าน GrabFood
พบ 5 เมนูที่ผู้ใช้บริการนิยมสั่งมากที่สุดตลอดทั้งปี คือ ส้มตำปูปลาร้า กาแฟดำ ชาเขียวเย็น ลาบหมู ชาไทย

ส้มตำปูปลาร้า กลายเป็นเมนูสุดฮิตแห่งปี โดยมีออเดอร์รวมทั้งปีสูงถึงกว่า 4.4 ล้านจาน กาแฟ ยังคงเป็นเครื่องดื่มขายดีตลอดกาล ซึ่งในปีนี้มียอดสั่งรวมทั้งสิ้นมากกว่า 4.6 ล้านแก้ว อาหารวีแกน คือเมนูที่มาแรงที่สุด โดยมีออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เมนูท้องถิ่นยอดนิยมในแต่ละภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ: ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอยไก่ ไส้อั่ว ภาคกลาง: กาแฟเย็น คอหมูย่าง ข้าวมันไก่ ภาคอิสาน: ส้มตำปูปลาร้า ลาบหมู คอหมูย่าง และภาคใต้: ชาชัก ข้าวหมกไก่ ไก่ทอด ส่วน 5 เมนูขายดีในช่วงปีใหม่ คือ พิซซ่า หมาล่า ไก่ทอด แซนวิช และเบอร์เกอร์

สำหรับพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันผ่าน GrabMart
โดย 5 สินค้ายอดนิยมที่ผู้ใช้บริการสั่งตลอดทั้งปี คือ ไข่ไก่ น้ำดื่ม ผักสด นม และน้ำแข็ง ในตลอดปีที่ผ่านมา มียอดสั่งไข่ไก่ไปแล้วกว่า 10 ล้านฟอง และ น้ำดื่มกว่า 9 ล้านขวด ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว คือสินค้าที่มาแรงที่สุด โดยมีออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ 5 สินค้าขายดีในช่วงปีใหม่ คือ กระเช้ารังนก ดอกไม้ เซ็ตผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและเครื่องสำอาง ไอศกรีม และ ขนมขบเคี้ยว

ด้านเทรนด์การสั่งอาหาร มีดังนี้ เทรนด์ออมนิคอมเมิร์ซ (Omnicommerce) มาแรง: ผู้บริโภคมีการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารเพื่อเชื่อมต่อกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งสะท้อนผ่าน 2 ฟีเจอร์ที่มาแรง นั่นคือ รับเองที่ร้าน (Self Pick-up) และ กินที่ร้าน (Dine-in) โดยมียอดสั่งซื้อจากทั้งสองฟีเจอร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เติบโตขึ้นกว่า 23 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ขณะที่ฟีเจอร์รับเองที่ร้านมียอดใช้บริการในไตรมาส 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 140% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ 5 โอกาสที่ผู้ใช้บริการนิยมไปทานอาหารนอกบ้าน คือ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษ ทานอาหารกับครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง ออกเดท และทานมื้อเที่ยงกับเพื่อนร่วมงาน

การสั่งอาหารแบบกลุ่ม (Group Order) ครองใจหนุ่มสาวออฟฟิศ: อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในปีที่ผ่านมาคือการสั่งอาหารแบบกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่มักใช้ฟีเจอร์นี้สั่งอาหารกลางวันมาทานร่วมกันในที่ทำงาน โดยในปีนี้มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 1.8 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และผู้ใช้บริการมียอดใช้จ่ายต่อออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่า

แอปพลิเคชันสั่งอาหารกลายเป็นช่องทางสำคัญในการค้นหา (Search): จากผลสำรวจผู้ใช้บริการพบว่า แอปพลิเคชันสั่งอาหารถือเป็นช่องทางที่คนไทยนิยมใช้ในการค้นหาร้านอาหารมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง (71%) สูงกว่าช่องทางโซเชียลมีเดียหรือแม้แต่เว็บไซต์เสิร์ชเอ็นจิน ขณะที่ 95% ของผู้ใช้บริการแกร็บเลือกค้นหาร้านอาหารหรือร้านค้าใหม่ๆ เพื่อทดลองใช้บริการผ่านเมนูเสิร์ชบนแอปพลิเคชัน Grab

เรตติ้งและรีวิว (Rating & Review) มีอิทธิพลต่อการลองร้านใหม่: การได้รับคะแนนเรตติ้งที่ดีและมีรีวิวในเชิงบวกมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรีให้กับร้านอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเรตติ้งและรีวิวกลายเป็นหนึ่งในสามปัจจัยหลักที่คนไทยใช้ประกอบการตัดสินใจเมื่อต้องการลองสั่งอาหารจากร้านที่ไม่เคยสั่งมาก่อน เพราะช่วยการันตีความนิยมและสร้างความมั่นใจในด้านรสชาติอาหารและบริการของร้านนั้น

แพ็กเกจสมาชิก (Subscription Package) ยังคงได้รับความนิยมและเติบโตต่อเนื่อง: ปัจจุบันผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันหันมาสมัครแพ็กเกจสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรับส่วนลดและสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่ม Heavy User หรือผู้ที่มียอดใช้จ่ายสูง โดยผู้ใช้แพ็กเกจสมาชิก GrabUnlimited มียอดใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 2.6 เท่า และมีความถี่ในการใช้บริการต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 2.1 เท่า

ผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจรักษ์โลก (Environmentally conscious): คนไทยกว่า 36% ยินดีที่จะจ่ายราคาที่สูงขึ้นเพื่อสนับสนุนแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่กว่า 97% มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ใช้บริการแกร็บที่เข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพิ่มมากขึ้น 1.7 เท่า ผ่านกาาบริจาคเงิน 1 บาทในทุกการสั่งอาหารหรือสินค้าเพื่อนำไปใช้ปลูกต้นไม้