แจงยิบยับ! แบงก์ชาติ ร่ายยาวเหตุตรึงดอกเบี้ย ส่งสัญญาณชัดดอกเบี้ยยังไม่เป็นภาระ

144
0
Share:

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และ 7 กุมภาพันธ์ 2567 โดยคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นางอลิศรา มหาสันทนะ (รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายรพี สุจริตกุล นายสันติธาร เสถียรไทย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส มีดังนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันภาคการส่งออกและภาคการผลิตมาเป็น เวลานานส่งผลชัดเจนขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกกว่า 70% ที่ฉุดรั้งมูลค่าการส่งออกใน ปี 2566 มาจากสินค้าที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

1.สินค้าหมวดปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนที่ต้องการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศและ ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (dual circulation strategy) 2.สินค้า hard disk drive ที่ สูญเสียตลาดให้กับ solid state drive ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ผู้ประกอบการในไทยยังไม่มีความสามารถ ในการผลิต ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ ผ่านมา ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่ขยายตัว 37% ,14% และ 10% ตามลำดับ

3.สินค้าเกษตร เช่น ข้าว โดยส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวของไทยลดลง ล่าสุดมาอยู่ที่ 13% จาก 25% ในปี 2546 นอกจากนี้ การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศของไทยถูกกระทบจากการ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนสินค้านำเข้าต่อการบริโภคภาคเอกชนของ ไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจาก 17% มาอยู่ที่ 24% ในปี 2566 โดยเป็นการ นำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นจาก 5% มาอยู่ที่ 9%

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความท้าทายมากขึ้น จาก 1.การประเมินผลกระทบของปัจจัยเชิงโครงสร้างต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยส่งผลต่อทั้งแรงส่งเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิ (ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก) และระยะยาวผ่านระดับศักยภาพการขยายตัว ของเศรษฐกิจไทยที่อาจลดต่ำลง ซึ่งยังไม่สามารถประเมินเชิงปริมาณได้ชัดเจนในปัจจุบัน และขึ้นอยู่กับ การปรับตัวของภาคเอกชนและนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย

2.การประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายมากขึ้น สะท้อนจาก GDP ด้านการใช้จ่ายและด้านการผลิตที่มีความแตกต่างกันและทำให้ การเปลี่ยนแปลงของระดับสินค้าคงคลังและค่าสถิติคลาดเคลื่อน (change in stock and statistical discrepancy) มีอิทธิพลต่อตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากในระยะหลัง คณะกรรมการฯ จึงให้ ความสำคัญกับการติดตามเครื่องชี้ที่หลากหลาย รวมถึงให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคธุรกิจ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความครอบคลุมรอบด้านและทันการณ์

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อน สำคัญของเศรษฐกิจในช่วงประมาณการ โดยมีแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะ ส่งผลดีต่อรายได้ภาคครัวเรือน โดยอัตราการว่างงานที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยข้อมูลรายเดือนสำหรับไตรมาส 4 ปี2566 ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 1% จากที่เคยอยู่ในระดับสูงถึง 2.2% ในช่วง วิกฤต COVID-19 รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี เป็นต้น

สำหรับแรงกระตุ้นภาครัฐโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2568 ปรับเพิ่มขึ้นตามกรอบงบประมาณใหม่ และ ต้องติดตามการดำเนินโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลและมาตรการอื่นๆ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดย 1.ราคาสินค้าที่ปรับลดลงมากจำกัดอยู่ในบางกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเฉพาะด้านอุปทานและ มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น ราคาอาหารสดและพลังงาน โดยหากหักผลของมาตรการ ช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงเป็นบวก

2.ราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง โดยล่าสุดมีเพียง 25% ของรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปที่ราคาปรับลดลง ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับในอดีต และ 3.การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง (medium-term inflation expectations) ยังทรงตัวใกล้เคียงค่ากลางของกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ เห็นว่า

อัตราการขยายตัวของราคาที่ต่ำในบางกลุ่มสินค้าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างตลาดและภาวะการแข่งขันที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากกว่าปัจจัยมหภาค และเห็นควรให้ศึกษาผลกระทบในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี กระบวนการ disinflation ที่เกิดขึ้นของไทยนั้นเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของ ครัวเรือนหลังจากที่เร่งสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภาวะการเงินไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม สะท้อนจาก 1.ธุรกิจในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชน ผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2566 ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กบางส่วนแม้ปรับด้อยลงแต่เป็นผลมาจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้ามากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

2.สินเชื่อปล่อยใหม่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านยอดคงค้างสินเชื่อปรับลดลงจากการใช้คืนหนี้ที่กู้ยืมจากมาตรการช่วยเหลือพิเศษในช่วง COVID-19 เป็นสำคัญ 3.การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน แต่เกิดจากปัจจัยเฉพาะของบริษัทและไม่ได้มีปัญหาเชิงระบบ