แบงก์ชาติชี้ศก.ไทยกุมภาพันธ์ยังไม่ฟื้น ผลโอไมครอนยังฉุดเศรษฐกิจ

453
0
Share:
แบงก์ชาติ ชี้ เศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ยังไม่ฟื้น ผล โอไมครอน ยังฉุดเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และเอสเอ็มอี จำนวน 208 ราย ระหว่าง วันที่ 1-23 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถสรุปสาระสำคัญของแต่ละผลสำรวจได้ดังนี้

ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 การฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยกำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ การฟื้นตัวในภาคการผลิตต้องเผชิญอุปสรรคเกี่ยวกับ Supply disruption เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสรรคของธุรกิจนอกภาคการผลิตยังคงเป็นกำลังซื้อที่อ่อนแอ และความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี ธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่า ผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจจากการระบาดของสายพันธุ์ Omicron น้อยกว่าหรือใกล้เคียง เมื่อเทียบกับการระบาดของสายพันธุ์ Delta

การฟื้นตัวของระดับการจ้างงานปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากธุรกิจนอกภาคการผลิตเป็นสำคัญ ทั้งในด้านจำนวนและรายได้แรงงาน โดยเฉพาะการค้ายานยนต์ เนื่องจากเดือนก่อนหน้า มีการเร่งส่งมอบสินค้า หลังจากมีการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ในเดือนธันวาคม 2564 สำหรับสภาพคล่องของธุรกิจปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากสัดส่วนของบริษัทที่มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการดำเนินธุรกิจมากกว่า 6 เดือนปรับลดลง และสัดส่วนบริษัทที่สภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนปรับเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการมองว่า ภายใต้ภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาสินค้าภายใน 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการแข่งขันสูง และกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจในภาคบริการ นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และยังไม่ปรับเพิ่มค่าจ้าง แม้ว่าบางส่วนจะขาดแคลนแรงงาน แต่จะเลือกจ้าง Part-time หรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานของแรงงานเดิมมากกว่า

ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก ทั้งปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้น จากการทำโปรโมชันส่งเสริมการขายของร้านค้า และมาตรการรัฐ ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดสายพันธุ์ Omicron ที่เร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลต่อการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นฯ ในระยะ 3 เดือนข้างหน้าให้ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของเดือนที่มีโครงการช้อปดีมีคืน ซึ่งสินค้าอุปโภค-บริโภคได้รับความนิยมสูง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า สะท้อนจากการเลือกซื้อสินค้าที่มีโปรโมชัน และขนาดสินค้าที่เล็กลง