แบงก์ชาติยันปล่อย Virtual Bank 3 ราย เหมาะสม ไม่เป็นการผูกขาดตลาด ต้องตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อย

129
0
Share:
แบงก์ชาติยันปล่อย Virtual Bank 3 ราย เหมาะสม ไม่เป็นการผูกขาดตลาด ต้องตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อย

น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวในงาน Media Briefing การขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง ประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต ขณะที่ ธปท. กำหนดให้ผู้รับคัดเลือกจัดตั้ง Virtual Bank ได้ไม่เกิน 3 รายนั้น ตามประกาศของกระทรวงการคลังในรายละเอียดระบุว่าให้ ธปท. พิจารณาจำนวนของรายใหม่ที่เหมาะสม โดยให้แน่ใจว่าช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระดับที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ฝากเงิน และระบบในวงกว้าง ขณะเดียวกันจำนวนที่อนุญาตก็ต้องดูไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพของระบบด้วย ซึ่งก็เป็นหลักการที่ ธปท. ใช้ในการพิจารณาจำนวนที่เหมาะสม

โดย ธปท.ใช้หลักการเดียวกับที่ประกาศของกระทรวงการคลัง ในแง่ของการประเมินตามหลักการ ธปท. ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งที่เคยประเมินไว้ว่าผู้ขอใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย และ ณ ตอนนี้ จำนวนที่เหมาะสมก็ไม่เกิน 3 ราย แต่ในอนาคตก็ต้องดูตามหลักเกณฑ์ที่เผยแพร่ประกาศของกระทรวงการคลัง

สำหรับทุนจดทะเบียน 5 พันล้านบาท สูงเกินไปหรือไม่นั้น น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า จากการประเมินของทีมงานโดยได้ทำตัวเลขขึ้นมาว่า Virtual Bank ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งได้จัดทำประมาณการตั้งแต่เริ่มเปิดและค่อยๆ เติบโต รวมถึงเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนต้นทุนในการดำเนินงาน จากการศึกษาข้อมูลการลงทุนต่อการดำเนินงานช่วงแรกจะใช้เยอะ แล้วยังต้องมีอัตราส่วนการลงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่มั่นคง และไปต่อได้

อีกทั้ง จากผู้ที่สนใจเหมือนจะเป็นธุรกิจรายเดิมที่ทำธุรกิจแบงก์อยู่แล้ว และจะมีบริการแตกต่างอย่างไร แล้วจะกลายเป็นการครองตลาดของผู้เล่นรายใหญ่หรือไม่นั้น จากที่เน้นย้ำตลอดว่า ธปท. มองหาคนที่ทำอะไรใหม่ๆ เป็นคีย์หลักของการเปิดให้มี Virtual Bank ซึ่ง ธปท. มองหาผู้ที่นำเสนอบริการรูปแบบใหม่จริงๆ และถ้ามาแล้วมาแบบเดิมก็คงไม่ใช่

นอกจากนี้ ประเด็นกังวลเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจนั้น เรื่องนี้เป็น 1 ในเรดไลน์ที่ ธปท.ไม่อยากเห็น และในการคัดเลือก ธปท.ก็ต้องพิจารณาตรงนั้นด้วย เมื่อเปิดดำเนินการ Virtual Bank แล้วมีพฤติกรรมที่ส่อไปในลักษณะนั้นหรือไม่ เช่น การใช้อำนาจเหนือตลาดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรดไลน์สำคัญที่ ธปท.จะติดตามดู

ส่วนเกณฑ์เรดไลน์ที่ ธปท. ไม่อยากเห็น Virtual Bank แข่งขัน หรือลดราคาจนทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพ หรือทำให้ความมั่นคงในระบบสถาบันการเงินมีปัญหา แต่ตอนจัดตั้งโดยผู้สมัครอาจเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เชี่ยวชาญเรื่องอื่น อาจมีช่องทางอื่นในการเร่งการเติบโต

การจัดตั้ง Virtual Bank เป็นการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ โดยคาดหวังการให้บริการต่างๆ สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้นนั้น ธปท. มองว่าเรื่องค่าบริการ หรือราคา เช่น ค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย ต้องต่ำกว่าธนาคารปกติหรือไม่นั้น Virtual Bank จะมาในรูปแบบใหม่ บริการก็ต้องมีความแตกต่าง และตอบโจทย์ได้ดีขึ้น ซึ่งบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์ได้ดีขึ้นมีทั้งในเชิงที่ช่วยคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนให้สามารถเข้าถึงได้ หรือคนที่เข้าถึงอยู่แล้วและได้อะไรที่ตอบโจทย์ตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

ซึ่ง ธปท. คาดหวังให้ Virtual Bank เข้ามาทำประโยชน์เหล่านี้ แต่อาจมาในหลายรูปแบบที่ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องราคา แต่เรื่องต้นทุนคาดหวังว่าต้นทุนการดำเนินการในระยะยาว หลังจากลงทุนในระบบไอทีแล้วเสร็จ ระยะต่อไป Virtual Bank จะมีต้นทุนต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป เพราะไม่มีต้นทุนเรื่องสาขาและบุคลากร หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปเป็นประโยชน์ให้กับประชาชน

นอกจากนี้ Virtual Bank จะช่วยกลุ่มคนที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งการเงิน โดยกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่เป็นรายเล็กๆ และเป็นกลุ่มรายย่อยที่เรียกว่าไม่มีรายได้ประจำ หรือกลุ่มที่มีประวัติทางการเงินกับสถาบันการเงินยาวนานพอ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีกระจัดกระจายอยู่ในเซกเมนต์ต่างๆ พอสมควร

“กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในไทย ธปท.มีผลจากการเซอร์เวย์ โดยเรื่องการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนก็มีบริการหลายประเภท แต่ตัวที่มีปัญหามากสุดคือครัวเรือนที่เป็นรายย่อย และปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ส่วนหนึ่งไม่ใช่สาเหตุของผู้ให้บริการอย่างเดียว อาจเป็นที่ลูกค้าจากสาเหตุเรื่องรายได้ และความรู้ทางการเงินที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น ในแง่ของผู้ให้บริการประเภทใหม่ที่จะลงมาเล่นในกลุ่มนี้มากขึ้นก็อาจจะช่วยได้บางส่วน“

นอกจากนี้ ธปท.จะมีการออกคู่มือประชาชนผ่านเว็ปไซต์ของ ธปท. ภายในสัปดาห์หน้า หรือระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคม 2566 (ยังไม่ระบุวันชัดเจน) เพราะคู่มือประชาชนมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ในระหว่างนี้สามารถศึกษาหลักเกณฑ์ Virtual Bank ตามประกาศของกระทรวงการคลัง และสามารถถามคำถามล่วงหน้าผ่านช่องทางอื่นๆ ของ ธปท.

ในส่วนของผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ธปท.จะพิจารณาตั้งแต่เกณฑ์การคัดเลือกที่จะเน้นย้ำคุณสมบัติ 7 ข้อ ที่จะต้องเป็นตัวพิสูจน์ว่าผู้ขอใบอนุญาตสามารถดำเนินการได้ โดยแผนธุรกิจที่ยื่นให้กับ ธปท. ต้องดูว่าผู้ขอใบอนุญาตขยายธุรกิจอย่างไร ใช้กลยุทธ์อะไร และจะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างไม่มั่นคง หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือไม่ การเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการความเสี่ยงของการทำธุรกิจว่าเป็นอย่างไร เพียงพอต่อการรองรับธุรกิจหรือไม่ และการดูแลผู้ใช้บริการที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยช่วงการคัดเลือกจะต้องดูภาพรวมทั้งหมด และต้องดูได้ว่าผู้ขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจริง

และก่อนจะเปิดให้บริการจริง ธปท. จะให้เวลาในการเตรียมความพร้อม โดย ธปท. จะเข้าดูแลความพร้อมทุกอย่างทั้งระบบงาน ระบบบริหารความเสี่ยงว่ามีความพร้อมก่อนจะเปิดให้บริการหรือไม่ เมื่อเปิดแล้วจะมีช่วงระยะแรกของการประกอบธุรกิจ 3-5 ปี ธปท. ต้องดูแลใกล้ชิด