สกัดหนี้พุ่ง ! แบงก์ชาติออกมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน

208
0
Share:
แบงก์ชาติออก 8 เกณฑ์เข้มคุมปล่อยสินเชื่อ มุ่งเป้า แก้หนี้ ยั่งยืน ต้นแบบกรองลูกหนี้ดี

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์  ในไตรมาส 3 ปี 2566 ธปท. ได้ออกแนวทางการ แก้หนี้ ครัวเรือนอย่างยั่งยืนที่บางส่วนมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือนผ่านทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีอยู่เดิม และมีมาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ Responsible Lending หรือ เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งได้ยกระดับจากการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืนขึ้น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
-ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs (ที่ไม่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อน) เมื่อเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ จะได้รับการเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ โดยผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลือ (product program) สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง และสำหรับลูกหนี้ NPL อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อน 60 วัน นับจากวันที่ผู้ให้บริการเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้
-ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 120 วัน สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยได้รับการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3-5% ต่อปี และยกดอกเบี้ยค้างเดิมให้เมื่อชำระครบตามสัญญา (เฉพาะเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ)
-ธปท. ยังมีช่องทางเสริมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ ทางด่วนแก้หนี้ สำหรับประชาชนขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ที่ให้คำปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs

2. ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้
-ตั้งแต่ 1 เม.ย. 67 ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลและบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น โดยจะได้รับการแจ้งเพื่อกระตุกพฤติกรรมและร่วมแก้ปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้โดยเร็ว
-สำหรับลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมใน 5 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับนอนแบงก์ สามารถเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี

3. คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
– ลูกหนี้ได้รับการดูแลให้การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นธรรมมากขึ้น ตลอดจนได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้อง ครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน
> ไม่ถูกคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรก เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ
> ไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
> ไม่ถูกคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย รวมกรณีบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (overdraft) (เริ่ม 1 ก.ค. 67)
> นอกจากนี้ ลูกหนี้ได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้องครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน ผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการเพื่อกระตุกพฤติกรรมตลอดวงจรหนี้ เช่น การมีคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” และอัตราดอกเบี้ยต่อปีต่ำสุด – สูงสุดในสื่อโฆษณา การแจ้งเตือนเมื่อจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (เริ่ม 1 ก.ค. 67) การแจ้งข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการแก้หนี้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำคลิปส่งเสริมความรู้ทางการเงินเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน และรู้วิธีแก้ไขปัญหาเมื่อต้องประสบภัยทางการเงิน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การแก้หนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลูกหนี้จำเป็นต้องปรับตัว และสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น (responsible borrowing) เช่น รู้สิทธิและเงื่อนไขสำคัญของสินเชื่อก่อนกู้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ชำระหนี้ตรงเวลา และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ให้รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ธปท. จะกำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างทันการณ์และใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือที่ตรงจุด เหมาะสม และได้รับบริการที่เป็นธรรม
*ธปท. จะตรวจสอบผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง (ongoing supervision) เช่น ผลักดันและติดตามให้ผู้ให้บริการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด 19 หรือตรวจสอบเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินเชื่อรายย่อยของผู้ให้บริการบางแห่งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่สำคัญ ในปีนี้ ธปท. จะตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending อย่างใกล้ชิด เช่น การโฆษณาให้ข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง การให้สินเชื่อที่ลูกหนี้จ่ายไหว เพื่อกำกับดูแลให้เจ้าหนี้รับผิดชอบต่อลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
*ธปท. จะใช้เครื่องมือใหม่ ๆ และข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อวิเคราะห์ ติดตามและประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมถึงปัญหา/เรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการทางการเงิน ตลอดจนยกระดับการตรวจสอบผู้ให้บริการเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล (text analytics) บนสื่อโซเชียลมีเดีย ชี้เบาะแส ติดตามปัญหาจากการใช้บริการทางการเงินที่มีการกล่าวถึงในสังคมออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพการให้บริการของสถาบันการเงิน และเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมายัง ธปท. ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์