แบงก์ชาติเข้มห้ามธนาคาร-น็อนแบงก์-อินฟลูเอนเซอร์โฆษณายันโปรโมชันทำคนไทยก่อหนี้เกินตัว

244
0
Share:
แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้มห้ามธนาคาร-น็อนแบงก์- อินฟลูเอนเซอร์ โฆษณา ยัน โปรโมชัน ทำคนไทยก่อหนี้เกินตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมประกอบด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้สินเชื่อและการให้ข้อมูลที่กระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ รวมทั้งการดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง ให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2567

แบงก์ชาติเปิดเผยคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการโฆษณา ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ข้อของร่างดังกล่าวว่า การโฆษณาหมายถึงสื่อที่สถาบันการเงินจัดทำ หรือว่าจ้างหรือให้ผลตอบแทนแก่บุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของผู้ให้บริการ ในลักษณะเชิญชวนหรือจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อกับผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ใด ๆ และจะกระทำผ่านสื่อ ช่องทาง เครื่องมือใดๆ รวมถึงผู้ส่งเสริมการขายทางสื่อสังคม หรืออินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ไปจนถึงป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ

โดยเน้น 3 หลักการใหญ่ คือ
1. ถูกต้องและชัดเจน จะต้องแสดงเงื่อนไข คำเตือน หรือข้อแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในการโฆษณาเดียวกันเพื่อให้ลูกค้าได้รับสารที่ถูกต้องชัดเจน และส่งเสริมการมีวินัยการเงินที่ดี เช่น โฆษณา “บัตรกดเงินสดให้คุณพร้อมใช้ทุกโอกาส ชีวิตสนุกไม่มีสะดุด อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.5% ต่อปี* นาน 50 วัน” ต้องมีการแสดงเงื่อนไขชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี นาน 50 วัน เฉพาะยอดใช้จ่ายแรกเท่านั้น พร้อมคำเตือนที่ต้องแสดงว่า “กู้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว ถ้าจ่ายคืนไม่ได้จะเป็นผลเสีย

2. ข้อมูลครบถ้วนและเปรียบเทียบได้ หลักเกณฑ์ คือ ต้องแสดงต่ำสุด-สูงสุด ของอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ขนาดตัวอักษรเท่าถ้อยคำพูดเชิญชวน หากเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ให้แสดงคำเตือนว่า “อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้” และหากแสดงค่างวดหรือระยะเวลาผ่อนเพื่อจูงใจลูกหนี้ เช่น ผ่อนเหมือน 10 บาทต่อวัน ต้องแสดงสมมติฐานการคำนวณค่างวด เงินต้น ภาระดอกเบี้ย และระยะเวลาชำระ เช่น เงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 25% ดอกเบี้ยทั้งสัญญา 7,200 บาท ค่างวด 300 บาทต่อเดือน ผ่อนนาน 5 ปี

และ 3. ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินควร คือห้ามกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร และส่งเสริมวินัยการเงิน เช่น ห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญทันทีที่สมัคร ห้ามกำหนดเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นหรือเร่งรัดให้ลูกค้าใช้สินเชื่อทันทีภายในงวดแรกหลังอนุมัติวงเงิน และต้องแสดงว่าพิจารณาสินเชื่อโดยผ่านการประเมินความสามารถในการชำระหนี้

สำหรับร่างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ประกอบด้วยทั้งหมด 8 ข้อ คือ

1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
2. การโฆษณา ต้องมีเนื้อหาถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน เปรียบเทียบได้ และต้องไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
3. การเสนอขาย ต้องไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
4. พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และให้ลูกหนี้เหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ
5. ส่งเสริมวินัยและการจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ ด้วยการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ผ่านการให้ข้อมูลและเงื่อนไข
6. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง
7. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ เสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
8. การดำเนินคดีและโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญ