แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังต้องระวังหลายปัจจัยเสี่ยง

792
0
Share:

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบปกติในหลายภาคส่วน และจากปัจจัยชั่วคราวคือวันหยุดยาวพิเศษประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
.
ด้านไตรมาส 3 เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัวสูงในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษเพื่อชดเชยช่วงสงกรานต์ที่เลื่อนมา ด้านปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้น
.
สำหรับการส่งออกในเดือน ก.ย. มีมูลค่า 19,412 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.2% ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ติดลบ 8.2% ขณะที่ไตรมาส 3 การส่งออกมีมูลค่า 57,990 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 8.2% ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 17.8%
.
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. ติดลบ 0.7% และไตรมาส 3 ติดลบ 0.73% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ก.ย. อยู่ที่ 0.25% และไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.31%
.
ขณะที่เงินบาทต่อดอลลาร์ โดยเฉลี่ยในเดือนก.ย.อ่อนค่าลงจากเดือนก่อนตามปัจจัยในประเทศ เช่น สถานการณ์การเมืองในประเทศ ก่อนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในเดือนต.ค. จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
.
สำหรับปัจจัยที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป คือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความเปราะบาง ความยั่งยืนของการฟื้นตัวภาคยานยนต์ โดยมองว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะเป็นปัจจัยกดดันภาคยานยนต์ในระยะต่อไป และความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนและอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และไตรมาส 4 มองว่าจะทยอยฟื้นตัวได้
.
นอกจากนี้ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป ธปท.จะปรับลดความถี่ในการเผยแพร่ข้อมูลดุลการชำระเงิน ในหมวดดุลบัญชีการเงิน ของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเป็นรายไตรมาส จากเดิมที่เผยแพร่เป็นรายเดือน เนื่องจากพบว่า ข้อมูลรายเดือนมีทิศทางหรือมูลค่าไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่จัดทำเป็นรายไตรมาส ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสนหรือเข้าใจผิดได้