แบงก์ชาติไทยซื้อทองคำปี 64 คิดต่อหัวมากอันดับ 2 ของโลก สะสมทองมากเป็นประวัติการณ์

2619
0
Share:
ทองคำ

นายแอนดรูว์ เนย์เลอร์ ผู้บริหารประจำภูมิภาค และนโยบายสาธารณะสภาทองคำโลก หรือ World Gold Council เปิดเผยรายงานความต้องการทองคำโลกประจำปี 2564 พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านไป ความต้องการซื้อทองคำแท่งของธนาคารกลางทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปีผ่านมา โดยมียอดซื้อสุทธิทองคำติดต่อกันนานถึง 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 2553 – 2564 สำหรับในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ปริมาณการซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 30 ปีเป็นจำนวน 463 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มียอดซื้อสุทธิต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ 255 ตัน

นายแอนดรูว์ เนย์เลอร์ เปิดเผยต่อไปว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2564 โดยซื้อทองคำสะสมเพิ่มสูงขึ้นถึง 90 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 59% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีสัดส่วนการถือครองทองคำเป็น 6% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยกลายเป็นธนาคารกลางที่มีปริมาณการถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือนับตั้งแต่มีการบันทึก

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่าในปี 2564 ธนาคารกลางทั่วโลกมีทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนที่เป็นทองคำรวมกันมากถึงประมาณ 35,600 ตัน ทำสถิติมากที่สุดในรอบ 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2535

สาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเข้าเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น สภาทองคำโลกคาดว่า มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการเข้าซื้อทองคำเพื่อเก็บเป็นทุนสำรองได้มากขึ้น ปัจจัยถัดมา คือภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนของธนาคารกลางอีกด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารกลางต่างๆ เข้าซื้อทองคำเพื่อเป้าหมายในการใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 เมื่อพิจารณาจากสถิติอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำในอดีต พบว่า ในภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ หรืออยู่ในระดับต่ำกว่า 3% อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำมักจะลดลง 7% ในทางตรงกันข้าม ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปกติ หรืออยู่ในระดับมากกว่า 3% จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำดีดตัวขึ้นสูงเฉลี่ย 14%

รายงานดังกล่าวของสภาทองคำโลก เปิดเผยต่อไปว่า ความต้องการทองคำในภาพรวมทั้งหมดของปี 2564 ได้ฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยมีจำนวน 4,021 ตัน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 สาเหตุจากโรคระบาดโควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง และความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มหันกลับมาซื้อทองคำ

สำหรับประเทศไทยนั้น ภาพรวมในการซื้อทองคำได้กลับมามียอดซื้อสุทธิทองคำในปี 2564 จำนวน 29 ตัน จากปี 2563 มียอดขายสุทธิที่ 87 ตัน สาเหตุมาจากการปรับฐานของราคาทองในปี 2564 หลังจากที่ปี 2563 ราคาทองคำในประเทศปรับขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดแรงเทขายออกมา

ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการซื้อทองคำสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปริมาณการซื้อต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์ ทั้งยังสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศยุโรป สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยส่วนใหญ่เป็นความต้องการซื้อของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทองคำรูปพรรณ