“แบงก์ชาติ” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ แม้ตัวเลข พ.ค. ต่ำกว่าคาด ยังเป็นห่วงเงินเฟ้อ

173
0
Share:
“แบงก์ชาติ” ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณขึ้น ดอกเบี้ย อีกรอบ แม้ตัวเลข พ.ค. ต่ำกว่าคาด ยังเป็นห่วงเงินเฟ้อ

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2 ว่าเงินเฟ้อเดือน พ.ค. แม้จะออกมาต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่แนวโน้มระยะข้างหน้ายังต้องจับตา โดยเงินเฟ้อปีหน้าเป็นสิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญมากกว่า โดยหากดูการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 6 ครั้งติดต่อกันแล้ว แต่สิ่งที่ กนง. ต้องพิจารณาต่อ คือ การมองไปข้างหน้า เนื่องจากการทำนโยบายการเงินต้องใช้เวลา 9 เดือนถึง 1 ปี ในการส่งผ่าน ดังนั้นสิ่งที่ กนง. ต้องให้ความสำคัญ คือการมองทะลุ ซึ่งการมองภาพระยะยาวเป็นสิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ด้านนายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เป้าหมายการทำนโยบายการเงิน สิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ต้องประคับประคองเศรษฐกิจต่อเนื่อง ให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และต้องดึงเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งต้องดำรงอยู่อย่างยั่งยืนด้วย

“แม้เงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่างานของ กนง. จะจบ เพราะต้องมองไปข้างหน้า และต้องให้มั่นใจว่าความเสี่ยงต่างๆ จากการทำนโยบายการเงิน และต้องรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบแบบยั่งยืนด้วย”

อย่างไรก็ตามหากดูระดับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงสุด(Terminal rate) ควรต้องเป็นระดับที่เป็นกลางเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่ผ่อนคลายมากเกินไป หรือไม่ตึงตัวมากเกินไป โดยพยายามดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพ

อย่างไรก็ตามหากดูการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 3% ถือว่าใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงส่วนใหญ่จะเป็นบวก ยกเว้นญี่ปุ่น ที่มีปัญหาเฉพาะตัว

ในส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน แบงก์ชาติคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ในหลายประเทศ เมื่อดอกเบี้ยต่ำมาก สิ่งที่เกิดขึ้น คือวิกฤติการเงิน ดังนั้นจะเห็นว่า แม้ดอกเบี้ยต่ำจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาว จะเป็นการสะสมความไม่สมดุลในระบบการเงิน สุดท้าย อาจเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจไทยอาจสูญเสียเสถียรภาพระยะยาว ทำให้เกิดวิกฤติกับแบงก์ได้ ดังนั้นสิ่งที่กนง.ให้ความสำคัญคือ ไม่อยากให้ดอกเบี้ยต่ำมาก เพราะอาจทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินได้ แต่หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แม้ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจมาก แต่มั่นคงในระยะยาว ก็เป็นอีกมิติที่กนง.พิจารณาด้วย