แพงดักรอ! เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นแต่เหล็กแพงสุดๆในรอบ 10 ปี

654
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาเหล็กในปัจจุบันยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีราคาเหล็กในเดือนเมษายน 2564 ยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบประมาณ 10 ปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 36%* โดยเป็นผลมาจากกลไกตลาดโลก กล่าวคือ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กในปริมาณสูง ส่งผลให้ความต้องการเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตาม แต่ขณะเดียวกัน ปริมาณการผลิตเหล็กโลกเพิ่มขึ้นไม่ทันความต้องการโดยเฉพาะบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแร่เหล็กหลักของโลก** จึงทำให้ราคาเหล็กยังอยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าราคาเหล็กจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2564 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้เหล็กในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้จากรัฐบาลจีน3มีการเพิ่มเงินลงทุนมากที่สุดในรอบ 7 ปี ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 25644 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงในประเทศผู้ผลิตแร่เหล็กหลักนอกเหนือจากบราซิล ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกาใต้ อินเดีย เปรู ยูเครน ที่มีสัดส่วนการผลิตเหล็กรวมกันถึงประมาณ 11% ของการผลิตเหล็กทั้งหมด ทำให้คาดว่า จากปัจจัยดังกล่าว น่าจะยังคงกดดันราคาเหล็กให้อยู่ในระดับที่สูงต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งกระทบกับต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการอาจจะต้องจับตาราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เช่น ซีเมนต์ และไม้ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อาจจะไม่เพิ่มสูงเท่ากับราคาเหล็ก เนื่องจากไทยสามารถผลิตได้เองและเพียงพอความต้องการโดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการระบาดระลอกสาม ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อรายวันค่อนข้างสูง น่าจะยังคงกดดันปริมาณการใช้เหล็กในช่วงที่เหลือของปี 2564 ให้หดตัว โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมและข้ออ้อยที่ใช้ในกลุ่มงานก่อสร้างทั่วไป คาดว่ายังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน กระทบต่อการชะลอแผนการลงทุนของภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อนน่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 อันเนื่องมาจากเหล็กประเภทนี้ใช้ในงานประเภทโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และคาดว่าแผนการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐยังเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญและหนุนการใช้เหล็กดังกล่าวให้ยังเติบโตได้ในปีนี้ แต่แน่นอนว่า ราคาเหล็กที่มีแนวโน้มสูงในช่วงที่เหลือของปี คงส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนก่อสร้าง โครงการเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

*ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาเหล็ก ณ เดือนเมษายน 2563 = 82.6 และ เดือน เมษายน 2564 = 112.4

**บราซิลเป็นผู้ผลิตแร่เหล็กอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีสัดส่วนผลิต 23% ของทั้งโลก

***ข้อมูลจาก World steel association จีนเป็นประเทศที่ใช้เหล็ก อันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 51.3%

****ข้อมูลจาก CEIC ดัชนีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 134.3 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557