แห่ปิดพรึบ! เอกชนไทยปิดกิจการพุ่ง 14% ใน 1 ปี ตกงานกว่า 6,300 คน

272
0
Share:
นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าปัจจุบัน สถานประกอบการของภาค เอกชน ที่อยู่ในระบบของ กสร. มีจำนวนประมาณ 490,000 แห่ง ในช่วงปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565-ก.ย. 2566 โดยเป็นข้อมูลที่ปรับปรุงล่าสุดถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการของเอกชนที่ใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อประกาศหยุดงานด้วยเหตุจําเป็น เป็นการชั่วคราว ซึ่งครอบคลุมการหยุดทั้งบริษัท หรือหยุดเพียงบางแผนก เช่น ประสบปัญหาด้านคำสั่งซื้อลดลง ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมากกะทันหัน เป็นต้น พบว่ามีรวมประมาณ 700 แห่ง ส่งผลกระทบกับพนักงานมากถึง 95,000 คน
ในจำนวน 700 แห่งดังกล่าว พบว่า ธุรกิจประกาศปิดกิจการสมบูรณ์แบบ และมีการเลิกจ้างพนักงานอย่างถาวร ถึง 14% หรือราว 103 แห่ง และในจำนวนนี้มีสถานประกอบเอกชนกว่า 63 แห่ง ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 100 คนขึ้นไป นั่นหมายถึงมีพนักงานมากกว่า 6,300 คนตกงานในช่วง 1 ปี อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขดังกล่าวมีน้อยกว่าช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระบาดหนัก (ปี 2563-2564) กว่าหลายเท่าตัว
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ พบว่ามีโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักและขนาดใหญ่ที่ประกาศปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก และมีปิดกิจการอย่างถาวร ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อกว่า 24 ชั่วโมงผ่านมา บริษัท คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด (KITAGAWA (THAILAND) COMPANY LIMITED) ประกาศปิดกิจการแบบถาวร บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่เลขที่ 39 หมู่ 8 นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ ชลบุรี 1 (บ่อวิน) ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 เปิดกิจการมานานถึง 29 ปี มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 2,560 ล้านบาท ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ รวมถึงผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อด้วยเตาหลอมแบบ INDUCTION และชิ้นส่วนเหล็กหล่อสำเร็จรูปให้กับบริษัทฯ ผู้ประกอบการยานยนต์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.) ประกาศเรื่อง การเลิกจ้างพนักงาน โดยระบุว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อบริษัทฯ มาโดยตลอดตามระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี บริษัทฯประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอด อีกทั้งบริษัทฯ ได้พยายามหาทางออกเพื่อหลีกเลี้ยงการเลิกจ้างพนักงาน แต่ผลการดำเนินงานยังคงประสบภาวะขาดทุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นบริษัทฯมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างพนักงานทุกท่าน ทั้งนี้พนักงาน ที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 สำหรับบริษัทนี้มีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 2,500 ล้านบาทในช่วง 5 ปีติดต่อกัน