โฆษกศบค.ชี้แจงติดโควิดและไม่มีแอพฯ “หมอชนะ” ถือว่าผิดพรก.ฉุกเฉินฯ

662
0
Share:

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.กล่าวชี้แจงถึงสาระสำคัญของ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17) ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.64
.
โดยมีสาระสำคัญของข้อกำหนดฉบับนี้มี 3 ข้อคือ
.
ข้อ 1.การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค เน้นย้ำว่าประชาชน้องมีแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามตัว เดิมเราใช้ไทยชนะอยู่ แต่หลังจากนี้ต้องมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ด้วย โดยให้ประชาชนติดตั้งแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ควบคู่การใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุด”
.
มีการพูดคุยในที่ประชุมศบค.ชุดเล็กว่า ต่อไปนี้หากพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด ไม่มีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะก็จะถือว่าละเมิดกฎหมายตามข้อกำหนดนี้ นี่คือสิ่งที่จะค่อยๆเข้มข้นขึ้น เพราะมีหลายครั้งไม่สามารถติดตามไทม์ไลน์ของผู้ป่วยออกมาได้ ฉะนั้นหมอชนะจะเป็นคำตอบของการระบาดในระลอกนี้
.
ข้อ 2. คือยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางคมนาคมและยานพาหนะของประชาชนเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่
.
ให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชันหมอชนะ โดยบุคคลที่จะออกนอกพื้นที่ ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น บัตรประชาชน บัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรอง ต่อเจ้าหน้าที่
.
ข้อ 3.ปราบปรามลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาด ดำเนินการกับผู้ปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้ออำนวยหรือสมรู้ร่วมคิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานเถื่อนและบ่อนพนันอันเป็นต้นตอของการระบาด
..
สำหรับโทษของผู้ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้จงใจปกปิดข้อมูลเดินทาง ถือว่ามีความผิดด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.2564 เป็นต้นไป