โจ ไบเดน ลงนามแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

571
0
Share:
ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ลงนามในร่างกฎหมายเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในคืนที่ผ่านมาที่ทำเนียบขาวสหรัฐ ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นกฎหมายสมบูรณ์แบบ และมีผลบังคับใช้ทันที
.
สำหรับหัวใจสำคัญของกฎหมายแพคเกจะเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกฎหมาย ARPA ได้แก่ มูลค่าเงินช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ว่างงานจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 สหรัฐ มูลค่าดังกล่าวคิดเป็น 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 12.4 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงมาตรการแจกเงินสดมูลค่า 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 43,400 บาท โดยเป็นการโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีภายในสุดสัปดาห์นี้ให้กับชาวอเมริกันที่มีรายได้ถึง 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.32 ล้านบาท และคู่สมรสที่มีรายได้รวมกันถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.65 ล้านบาท
.
นอกจากนี้ ยังรวมถึงเงินเพิ่มเติมจำนวน 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9,300 บาทต่อสัปดาห์ ที่จ่ายให้กับแรงงานชาวอเมริกันจำนวน 9.5 ล้านคน ที่ถูกให้ออก หรือตกงานจากผลกระทบของวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เงินจำนวนดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐจะจ่ายให้ถึงวันที่ 6 กันยายน 2564 ด้านเงินช่วยเหลือประกันช่วงว่างงานจำนวน 10,200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 316,200 บาท ให้สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือต่ำกว่า 4.65 ล้านบาท
.
สำหรับเงินประมาณที่ตั้งไว้เพื่อให้ความช่วยเหลือกับรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบในการใช้งบประมาณเข้าเยียวยาภาคสังคมจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งงบประมาณในส่วนนี้เป็นจำนวน 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10.85 ล้านล้านบาท รวมถึงงบประมาณช่วยเหลือโรงเรียนที่ต้องปิดการเรียนการสอนมาเป็นเวลานาน
.
นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า เมื่อกฎหมายแพคเกจเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา มีผลบังคับใช้เป็นทางการ จะสามารถกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีสหรัฐได้เป็น 5.5% ในปีนี้ ซึ่งจะทำสถิติที่ดีที่สุดในรอบ 37 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา
.
ทั้งนี้ นายลอเรนซ์ บูน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี เปิดเผยว่า กฎหมายแพคเกจดังกล่าว ไม่เพียงกระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาเติบโต แต่ยังเติมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านความต้องการในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจสหรัฐส่งผลไปถึงประเทศอื่นๆของโลก จากการประเมิน พบว่า แพคเกจดังกล่าวจะเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐเฉลี่ยราว 3-4% และราว 1% สำหรับเศรษฐกิจโลกของการใช้แพคเกจนี้ในปีแรก ส่งผลให้โออีซีดี ปรับเป้าหมายจีดีพีโลกปีนี้จากเดิมที่ 4.2% เป็น 5.6% และปรับเป้าจีดีพีสหรัฐปีนี้ขึ้นเป็น 6.5%